ทำเนียบ 100 Women ของบีบีซี ประจำปี 2021

  • ลิมา อาฟชิด

    อัฟกานิสถาน กวี

    กวีและนักเขียนมือรางวัล ผู้ซึ่งบทประพันธ์และร้อยกรองของเธอท้าทายต่อบรรทัดฐานแบบชายเป็นใหญ่ในสังคมอัฟกัน

    ลิมา อาฟชิด ทำงานเป็นผู้สื่อข่าวอิสระและนักวิจารณ์สังคมมานานกว่า 5 ปี

    เธอยังเป็นสมาชิกของ Sher-e-daneshgah สมาคมกวีกรุงคาบูล ซึ่งจัดการชุมนุมอ่านบทกวีทางออนไลน์ขึ้นในช่วงการระบาดใหญ่ เพื่อรักษาความรู้สึกเป็นชุมชนของสมาชิกกว่า 200 คนไว้ ท่ามกลางภาวะวิกฤติทางสุขภาพ

    *การล่มสลายของอัฟกานิสถานนั้น เหมือนเราจมกลับไปในหล่มโคลนเดิม ซึ่งเราพยายามดิ้นรนจะขึ้นมาให้ได้ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา แต่ถึงกระนั้น ฉันยังมีความหวังเต็มเปี่ยมว่าเราจะลุกขึ้นมาได้ เหมือนกับกิ่งไม้ที่งอกงามเอื้อมไปหาแสงสว่าง ท่ามกลางความมืดสลัวของป่าทึบ

  • ฮาลิมา อาเดน

    เคนยา นักมนุษยธรรมและอดีตนางแบบ

    ฮาลิมา อาเดน เป็นซูเปอร์โมเดลคนแรกที่สวมฮิญาบ เธอมีเชื้อสายโซมาเลียแต่เกิดที่ค่ายผู้อพยพในเคนยา เธอได้เซ็นสัญญากับ IMG Models บริษัทจัดหานายแบบนางแบบรายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกเมื่อปี 2017 โดยมีการระบุในสัญญาด้วยว่า นายจ้างจะไม่สั่งให้เธอถอดผ้าคลุมศีรษะออกขณะทำงานอยู่

    อาเดนเป็นนางแบบคนแรกที่สวมฮิญาบถ่ายแบบขึ้นปกนิตยสาร Vogue ฉบับที่วางแผงในอังกฤษ รวมถึงนิตยสาร Allure และ Sport Illustrated ฉบับที่นำเสนอชุดว่ายน้ำโดยเฉพาะ เธอรณรงค์เพื่อการตระหนักรู้และมองเห็นปัญหาของสตรีมุสลิม รวมทั้งเป็นทูตขององค์การยูนิเซฟที่ทำงานเพื่อสิทธิเด็ก

    ในปี 2020 อาเดนอำลาวงการนางแบบ เนื่องจากพบว่าไม่สามารถไปกันได้กับความศรัทธาในศาสนาอิสลามของเธอ แต่ก็ยังคงเดินหน้าสร้างความเปลี่ยนแปลงในแวดวงอุตสาหกรรมแฟชั่นและวงการอื่น ๆ

    *เราได้เห็นคนทำงานแนวหน้าของเรา ดำเนินมาตรการแบบสุดขั้วเพื่อปกป้องให้เราปลอดภัยระหว่างการเกิดโรคระบาด ฉันขอภาวนาให้พวกเรารู้สึกชื่นชมยกย่องต่อการเสียสละของพวกเขา เราสามารถจะเปลี่ยนแปลงโลกเสียใหม่ โดยก้าวไปข้างหน้าพร้อมกับจดจำคุณความดีนี้เอาไว้ด้วย

  • โอลูเยมิ อาเดติบา-โอริจา

    ไนจีเรีย ผู้ก่อตั้งมูลนิธิ Headfort Foundation

    ทนายความคดีอาญาและผู้ก่อตั้งมูลนิธิ Headfort Foundation ซึ่งเป็นสำนักงานกฎหมายของทนายหญิงล้วน ที่มุ่งให้บริการทางกฎหมายเพื่อผดุงความเป็นธรรม

    ทีมนักกฎหมายหญิง 4 คน ประจำอยู่ที่สำนักงานในกรุงลากอสของไนจีเรีย เพื่อช่วยเหลือคนยากจนและผู้ต้องโทษที่ถูกคุมขังอย่างไม่เป็นธรรม รวมทั้งผู้ที่ไม่สามารถประกันตัวได้และพลเมืองที่ถูกฝากขังเป็นเวลานานระหว่างรอการพิจารณาคดี ซึ่งคนกลุ่มหลังนี้มีมากถึง 70% ของประชากรในเรือนจำ โอลูเยมิ อาเดติบา-โอริจา และทีมของเธอ ยังมุ่งให้ความสำคัญกับผู้กระทำผิดที่เป็นเยาวชน โดยพยายามให้โอกาสพวกเขากลับสู่ชีวิตนอกที่คุมขัง

    นับแต่เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2018 ทางมูลนิธิได้ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายฟรีแก่ผู้ต้องหาไป 125 คนแล้ว โดยคนเหล่านี้ถูกตั้งข้อหาว่ากระทำความผิดลหุโทษ

    *เพื่อให้โลกได้เริ่มต้นใหม่ เราต่างมีบทบาทที่จะต้องทำ ! จงพูด รณรงค์ และสนับสนุนการกระทำที่มีสาเหตุดีงาม ทำให้โลกมีทั้งเสรีภาพและความปลอดภัย

  • มูคาดาซา อาหมัดไซ

    อัฟกานิสถาน นักกิจกรรมทางการเมืองและสังคม

    เธอก่อตั้งเครือข่ายเยาวชนหญิงนักกิจกรรมกว่า 400 คน ในจังหวัดนันการ์ฮาร์ทางตะวันออกของอัฟกานิสถาน เพื่อเดินทางไปให้ความช่วยเหลือเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวในพื้นที่ข้างเคียง

    ในฐานะที่เป็นนักกิจกรรมทางการเมืองและสังคม มูคาดาซา อาหมัดไซ รับหน้าที่ช่วยเหลือผู้หญิงและชุมชนของพวกเธอ ท่ามกลางภาวะที่ข้อมูลข่าวสารเท็จแพร่กระจายอยู่เต็มไปหมดระหว่างการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ก่อนหน้านี้เธอเคยเป็นสมาชิกรัฐสภาเยาวชน ผู้มุ่งทำงานเพื่อสิทธิของผู้หญิงและเด็ก

    เมื่อปี 2018 เธอได้รับรางวัลสันติภาพ N-Peace จากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ซึ่งมอบให้ผู้หญิงที่มีบทบาทโดดเด่นในการสร้างสันติภาพและแก้ไขความขัดแย้ง

    *ฉันไม่เคยพบการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันแบบนี้มาก่อน มันเหมือนกับว่าไม่มีรัฐบาลอยู่อีกต่อไป ความหวังเดียวของเราตอนนี้คือคนรุ่นหนุ่มสาว ที่จะเข้ามาเติมเต็มช่องว่างและปฏิรูประบบเสียใหม่ แต่มันจะเป็นไปได้ก็ด้วยการสนับสนุนจากต่างประเทศเท่านั้น

  • ราดา อักบาร์

    อัฟกานิสถาน ศิลปิน

    ความเกลียดกลัวผู้หญิงและการกดขี่ผู้หญิง คือหัวใจสำคัญของผลงานฝีมือศิลปินสาขาทัศนศิลป์จากอัฟกานิสถานผู้นี้ ราดา อักบาร์ มักใช้งานศิลปะเป็นสื่อในการส่งเสียง ทำให้ผู้หญิงถูกสังคมมองเห็นได้ชัดเจนขึ้น

    นับแต่ปี 2019 เป็นต้นมา เธอจัดนิทรรศการศิลปะ “ซูเปอร์วูแมน” ขึ้นทุกปี เพื่อเฉลิมฉลองวันสตรีสากลและแสดงการชื่นชมบทบาทสำคัญของผู้หญิงในหน้าประวัติศาสตร์ของอัฟกานิสถาน เมื่อไม่นานมานี้ เธอยังพยายามจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สตรีขึ้นในกรุงคาบูลหรือที่เมืองแห่งอื่นด้วย

    อักบาร์เชื่อว่า ศิลปะของเธอช่วยส่งเสียงประณามกฎสังคม ที่มักเฝ้าแต่ก่นด่าตำหนิผู้หญิงในนามของการเมือง เศรษฐกิจ และความเชื่อทางศาสนา

    *ประเทศชาติและพลเมืองของอัฟกานิสถาน ต่างถูกรังแกและล่วงละเมิดโดยกลุ่มสุดโต่งและบรรดาผู้นำโลกมานานหลายสิบปี แต่เราไม่เคยหยุดทำงานเพื่อให้ได้มาซึ่งประเทศที่มีความก้าวหน้า แล้วเราจะได้อยู่กันในอัฟกานิสถานที่มีทั้งเสรีภาพและความมั่งคั่งอีกครั้ง

  • อาเบีย อาครัม

    ปากีสถาน ผู้นำคนพิการ

    เนื่องจากตัวเองมีความพิการทางกาย อาเบีย อาครัม จึงเริ่มเป็นนักรณรงค์เคลื่อนไหวในขบวนการเพื่อผู้พิการตั้งแต่ปี 1997 และก่อตั้งโครงการแลกเปลี่ยนผู้มีความสามารถพิเศษ (STEP) ตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาอยู่

    อาครัมเป็นผู้หญิงจากปากีสถานคนแรกซึ่งได้รับการเสนอชื่อให้เป็นผู้ประสานงานของที่ประชุมเยาวชนผู้พิการแห่งเครือจักรภพ เธอยังเป็นผู้ก่อตั้งสภาสตรีผู้พิการแห่งชาติ รวมทั้งรณรงค์ให้มีการบังคับใช้อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการของสหประชาชาติ และเรียกร้องให้มีการพัฒนาประเทศที่คำนึงถึงคนพิการด้วย

    เธอยังต่อสู้เพื่อให้ประเด็นเรื่องความพิการได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของวาระและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2030 ของสหประชาชาติ

    *การจะทำให้โลกได้เริ่มต้นใหม่หลังการระบาดของโควิด-19 เราจะต้องร่วมมือกันเพื่อปรับปรุงทุกแง่มุมในสังคม ซึ่งจะมีการสร้างภาวะปกติแบบใหม่ขึ้น และเราควรจะได้เห็นผลของการพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

  • ลีนา อาลัม

    อัฟกานิสถาน นักแสดง

    เธอคือนักแสดงมือรางวัลที่ปรากฏตัวในภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ และละครเวทีหลายเรื่อง ทั้งยังเป็นนักเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ลีนา อาลัม เป็นที่รู้จักจากละครโทรทัศน์แนวสตรีนิยมของอัฟกานิสถาน ซึ่งรวมถึง “เชอรีนและการสังหารฟาร์คุนดา” ที่บอกเล่าเรื่องราวของหญิงอัฟกันคนหนึ่งผู้ถูกใส่ความว่าเผาคัมภีร์อัลกุรอาน และท้ายที่สุดก็ถูกเหล่าผู้ชายรุมประชาทัณฑ์

    อาลัมลี้ภัยออกจากอัฟกานิสถานในช่วงทศวรรษ 1980 และขณะนี้พำนักอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ ปัจจุบันเธอยังคงเล่าขานเรื่องราวของบ้านเกิดอยู่เช่นเดิม

    ในปี 2009 เธอได้รับการแต่งตั้งเป็นทูตสันติภาพประจำภารกิจสนับสนุนของสหประชาชาติในอัฟกานิสถาน

    *เราใช้เวลาหลายสิบปีสร้างทุกสิ่งขึ้นมาใหม่จากเลือดและการเสียสละอย่างมหาศาล การได้เห็นทุกอย่างพังทลายลงในชั่วพริบตานั้นทำให้ใจสลายอย่างยิ่ง แต่การต่อสู้ต้องดำเนินต่อไป และในครั้งนี้เราจะต้องวางรากฐานที่แข็งแกร่งขึ้น

  • ดร. อะเลมา

    อัฟกานิสถาน นักรณรงค์และนักปรัชญา

    เธอคือนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์และปรัชญาคนสำคัญของประเทศ ดร. อะเลมาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการด้านสิทธิมนุษยชนและประชาสังคม ประจำกระทรวงเพื่อสันติภาพแห่งรัฐของอัฟกานิสถาน และในฐานะผู้ส่งเสริมสิทธิสตรี เธอยังได้ก่อตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อการมีส่วนรวมทางการเมืองของผู้หญิงขึ้นอีกด้วย

    ด้วยคุณวุฒิระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยในเยอรมนี ดร. อะเลมามีประสบการณ์มากกว่า 20 ปี ในการวิเคราะห์ความขัดแย้ง

    เธอเคยเขียนหนังสือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของเยอรมนีและอัฟกานิสถาน รวมทั้งหนังสือเรื่องการเสริมสร้างพลังความแข็งแกร่งแก่หญิงชาวอัฟกันอีกด้วย เธอยังเป็นผู้ฝึกอบรมมืออาชีพและคนกลางไกล่เกลี่ยในประเด็นว่าด้วยกฎหมายมนุษยธรรม โดยมุ่งให้ความสนใจกับปัญหาผู้อพยพลี้ภัยและผู้พลัดถิ่น

    *ความฝันของฉันคือการที่อัฟกานิสถานมีเสรีภาพและเป็นประชาธิปไตย เป็นสถานที่ซึ่งสิทธิพลเมืองได้รับการคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญสมัยใหม่ และเป็นสถานที่ซึ่งมีการรับประกันสิทธิของผู้หญิง ในการมีส่วนร่วมกับทุกพื้นที่ของชีวิตด้วยฐานะพลเมืองที่เท่าเทียม

  • เซฟดา อัลตูโนลุก

    ตุรกี นักเล่นโกลบอลมืออาชีพ

    เนื่องจากมีความพิการทางสายตาแต่กำเนิด เซฟดา อันตูโนลุก จึงฝึกฝนตนเองจนได้เป็นนักกีฬาโกลบอล (goalball) มืออาชีพ โดยกีฬาชนิดนี้จะมีผู้เล่นที่บกพร่องทางการมองเห็น หรือผู้เล่นที่ใช้ผ้าปิดตาไว้ทีมละ 3 คน พยายามโยนลูกบอลที่มีกระดิ่งอยู่ข้างในให้เข้าประตูตาข่ายของฝ่ายตรงข้าม

    เธอได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้เล่นโกลบอลมือดีที่สุดของโลกอยู่บ่อยครั้ง โดยมักเป็นผู้ทำคะแนนได้สูงสุดทั้งในการแข่งขันพาราลิมปิก 2 ครั้ง รายการชิงแชมป์โลก 2 ครั้ง และรายการชิงแชมป์ยุโรปอีก 4 ครั้ง อันตูโนลุกยังช่วยนำทีมชาติตุรกีคว้าเหรียญทองในการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกที่นครริโอ เด จาเนโร เมื่อปี 2016 และที่กรุงโตเกียวเมื่อปี 2020

    เธอเกิดที่เมืองโทกัตของภูมิภาคอนาโตเลีย ก่อนจะมาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาพละศึกษาที่กรุงอังการา

    *ความพิการนั้นไม่ควรจะถูกมองว่าเป็นอุปสรรค แต่เป็นโอกาสในการแสดงออกถึงความภาคภูมิใจในตัวเอง

  • วาฮิดา อามีรี

    อัฟกานิสถาน บรรณารักษ์และผู้ประท้วง

    เธอคือบรรณารักษ์และคนรักหนังสือ วาฮิดา อามีรี สำเร็จการศึกษาด้านนิติศาสตร์และเป็นผู้ประท้วงขาประจำ หลังกลุ่มตาลีบันเข้ายึดกรุงคาบูลและเธอไม่อาจทำงานที่ห้องสมุดได้อีกต่อไป เธอจึงเดินหน้าลงสู่ถนนโดยมีหญิงชาวอัฟกันคนอื่น ๆ จำนวนนับไม่ถ้วนเข้าร่วมด้วย พวกเธอพากันเดินขบวนเรียกร้อง ขอให้ประชาคมนานาชาติช่วยสนับสนุนสิทธิของผู้หญิงในการทำงานและเข้าถึงการศึกษา

    นับแต่รัฐบาลตาลีบันกำหนดให้การชุมนุมประท้วงเป็นสิ่งผิดกฎหมาย อามีรีได้รวมตัวกับผู้หญิงคนอื่น ๆ จัดตั้งกลุ่มส่งเสริมการอ่านและการอภิปราย

    ห้องสมุดของเธอเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2017 ซึ่งเธอบอกว่าเมื่อห้องสมุดต้องปิดตัวลง ก็เหมือนกับเธอได้สูญเสียตัวตนไปด้วย

    *โลกไม่เคารพเราในฐานะที่เป็นมนุษย์ แต่ในขณะที่อัฟกานิสถานกำลังอยู่ระหว่างการถูกทำลายล้าง เราฟื้นฟูความหวังขึ้นมาใหม่ด้วยการประท้วง เรียกร้องความเป็นธรรม และส่งเสริมการอ่านหนังสือ

  • โมนิกา อารยา

    คอสตาริกา ผู้รณรงค์เพื่อการขนส่งที่ปราศจากการปล่อยคาร์บอน

    ในฐานะของผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิอากาศ ซึ่งทำงานรณรงค์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบขนส่งที่ไร้การปล่อยคาร์บอน โมนิกา อารยา เป็นผู้วางแนวทางการรณรงค์เพื่อความยั่งยืนในทวีปอเมริกาและยุโรป ซึ่งรวมถึงความริเริ่มภาคพลเมือง Costa Rica Limpia ซึ่งช่วยให้ประเทศบ้านเกิดของเธอก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านพลังงานหมุนเวียนของโลก

    อารยาเป็นที่ปรึกษาพิเศษให้กับผู้แทนระดับสูงของสหประชาชาติด้านปฏิบัติการภูมิอากาศ โดยดูแลในเรื่องของการขนส่งโดยเฉพาะ เธอยังเป็นที่ปรึกษาของโครงการ RouteZero ซึ่งรณรงค์เพื่อการเดินทางที่ปราศจากการปล่อยคาร์บอน ทั้งยังเป็นสมาชิกผู้ทรงคุณวุฒิของมูลนิธิ ClimateWorks Foundation อีกด้วย

    วิดีโอการบรรยายบนเวที TEDTalks ของเธอ มีผู้เข้าชมทั้งหมดเกือบ 4 ล้านครั้ง และได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศถึง 31 ภาษา อารยายังเข้าร่วมคณะสำรวจหญิงล้วนที่ใหญ่ที่สุดในโลกเมื่อปี 2016 เพื่อทำภารกิจพิชิตทวีปแอนตาร์กติกาอีกด้วย

    *นี่คือเวลาที่ต้องปรับเปลี่ยนสิ่งที่เราเคยเห็นว่ามันปกติเสียใหม่ การตัดลดความต้องการน้ำมันเบนซินและดีเซลลงนั้นสำคัญยิ่ง และจะช่วยสร้างเสียงสนับสนุนทางการเมืองให้กับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอื่น ๆ ต่อไป

  • นาตาชา อัซการ์

    สหราชอาณาจักร สมาชิกรัฐสภาแคว้นเวลส์

    เธอคือหญิงผู้สร้างประวัติศาสตร์ เนื่องจากเป็นผู้หญิงผิวสีที่ได้รับเลือกตั้งเข้าสู่รัฐสภาของแคว้นเวลส์ในปีนี้ ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรก นับแต่สภาอันทรงเกียรติก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1999

    ในฐานะสมาชิกพรรคคอนเซอร์เวทีฟ และสมาชิกรัฐสภาภูมิภาคประจำพื้นที่แคว้นเวลส์ตอนใต้ฝั่งตะวันออก นาตาชา อัซการ์ ยังรับหน้าที่รัฐมนตรีเงาด้านการขนส่งและเทคโนโลยี เธอมีแผนจะออกบัตรเดินทางที่ส่งเสริมให้คนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวในแคว้นเวลส์ใช้ระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ

    ก่อนจะมาลงเล่นการเมือง เธอทำงานเป็นนักการธนาคาร ผู้ประกาศข่าวโทรทัศน์ ดีเจรายการวิทยุ และเคยเขียนหนังสือมาแล้ว 2 เล่ม

    *เมื่อเรารวมพลังเป็นหนึ่งเดียว เราจะต้องฟันฝ่าผ่านเส้นทางที่ยากลำบากไปสู่ภาวะความปกติใหม่ และต้องคว้าเอาโอกาสเท่าที่มีอยู่ เพื่อทำให้วิถีการดำรงชีวิตและวิธีการทำงานของเรามีประสิทธิภาพมากที่สุด นับจากนี้เป็นต้นไป

  • ซูฮัล อัตมาร์

    อัฟกานิสถาน เจ้าของโรงงานรีไซเคิล Gul-e-Mursal

    โรงงานรีไซเคิลขยะและกระดาษแห่งแรกของอัฟกานิสถาน ก่อตั้งโดยนักธุรกิจหญิง ซูฮัล อัตมาร์ ซึ่งมีภูมิหลังการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจมาก่อน โรงงานซึ่งมีสตรีนำการบริหารแห่งนี้ สร้างขึ้นในกรุงคาบูลเมื่อปี 2016 โดยสร้างงานถึง 100 ตำแหน่ง และในจำนวนนั้น 30% ตกเป็นของผู้หญิง ตั้งแต่งานในสายการผลิตไปจนถึงฝ่ายการตลาด

    ทางโรงงานเก็บขยะและเอกสารที่ไม่เป็นความลับจากองค์กรเอกชน โดยเอามาแปรรูปและผลิตเป็นกระดาษชำระถึง 35 ตันต่อสัปดาห์ ซึ่งกระดาษชำระเหล่านี้จะถูกส่งขายไปทั่วประเทศ

    อัตมาร์มักเป็นปากเป็นเสียงให้กับผู้หญิง ในเรื่องที่พวกเธอหาแหล่งเงินทุนสนับสนุนธุรกิจได้อย่างยากลำบาก แต่ในขณะเดียวกัน เธอก็เรียกร้องให้บรรดาผู้หญิงในอัฟกานิสถานลุกขึ้นมาทำธุรกิจกันให้มากขึ้นด้วย

    *อนาคตจะเป็นอย่างไรน่ะหรือ ? ความฝัน จุดหมาย และความหวังของเยาวชนและผู้หญิงทุกคนถูกทำลายไปแล้ว

  • มาร์เซลีนา เบาติสตา

    เม็กซิโก ผู้นำสหภาพแรงงาน

    เนื่องจากเคยทำงานรับจ้างเป็นแม่บ้านมาก่อน มาร์เซลีนา เบาติสตา จึงก้าวสู่ตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือและฝึกอบรมผู้รับจ้างทำงานบ้าน (CACEH) ของเม็กซิโก ซึ่งเธอก่อตั้งขึ้นเมื่อ 21 ปีก่อน เธอเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ แบบที่แรงงานอาชีพอื่นได้รับให้กับเหล่าแม่บ้าน อย่างเช่นค่าแรงที่เป็นธรรมและสิทธิในการลาป่วย รวมทั้งมุ่งยกระดับสถานะทางสังคมของพวกเธอด้วย

    ความริเริ่มของเบาติสตาประกอบด้วยโครงการให้ความรู้แก่แรงงาน นายจ้าง และสมาชิกในชุมชน โดยที่ผ่านมาเธอมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการเจรจาต่อรอง ซึ่งทำให้รัฐบาลเม็กซิโกเข้าร่วมข้อตกลงระหว่างประเทศด้านแรงงานอย่างเป็นทางการ โดยข้อตกลงนี้ช่วยปกป้องผู้รับจ้างทำงานบ้านจากการถูกเอารัดเอาเปรียบ ความรุนแรง และสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่ปลอดภัย

    เธอได้รับรางวัลสิทธิมนุษยชนระดับนานาชาติ จากมูลนิธิ Friedrich-Ebert-Stiftung ของเยอรมนี เมื่อปี 2010

    *การเปลี่ยนแปลงโลกหมายถึงเปลี่ยนสภาพความเป็นอยู่ของตนที่ทำงานบ้านหลายล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและทำงานอยู่กับบ้าน ในขณะที่คนอื่นได้มีโอกาสก้าวหน้าในสายงานอาชีพของตนเอง ความไม่เท่าเทียมทางสังคมนี้จะสิ้นสุดลง ก็ต่อเมื่อมีการยอมรับในคุณค่าของงานบ้าน ตามที่มันสมควรจะได้รับอย่างแท้จริง

  • คริสตัล บายัต

    อัฟกานิสถาน นักกิจกรรมทางการเมือง

    เธอคือนักต่อสู้ทางสังคมและผู้สนับสนุนสิทธิมนุษยชน คริสตัล บายัต มีบทบาทสำคัญยิ่งในการประท้วงต่อต้านกลุ่มตาลีบันที่กลับมายึดครองอัฟกานิสถานอีกครั้งในปีนี้ เธอมีส่วนร่วมจัดการประท้วงครั้งสำคัญในวันชาติ 19 สิงหาคม ที่กรุงคาบูล

    บายัตกำลังศึกษาต่อระดับปริญญาเอกด้านการจัดการทางการเมือง แต่การเรียนของเธอต้องชะงักลงกลางคัน หลังกลุ่มตาลีบันเข้ามาปกครองประเทศ

    ปัจจุบันเธออาศัยอยู่ในสหรัฐฯ แต่ยังคงต่อสู้เพื่อรักษาความสำเร็จด้านสิทธิมนุษยชนที่อัฟกานิสถานเคยบรรลุถึงเอาไว้เช่นเดิม เธอยังหวังว่าจะได้เรียนจบหลักสูตรปริญญาเอก และจะเขียนหนังสือสักเล่ม

    *ฉันหวังว่าในที่สุดแล้วจะได้มีส่วนร่วมกับการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยของอัฟกานิสถานในอนาคต ความฝันของฉันก็คือการขึ้นกล่าวปราศรัยที่องค์การสหประชาชาติ เพราะฉันเชื่อว่าโลกจำเป็นต้องได้ยินสิ่งที่ชาวอัฟกันตัวจริงอยากจะพูด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากผู้หญิง

  • ราเซีย บารักไซ

    อัฟกานิสถาน ผู้ประท้วง

    หลังทำงานให้ฝ่ายรัฐบาลที่ทำเนียบประธานาธิบดีอัฟกานิสถานมาหลายปี ราเซีย บารักไซ ผู้มีความสามารถหลากหลายด้าน พบว่าตัวเองต้องตกงานหลังกลุ่มตาลีบันขึ้นสู่อำนาจอีกครั้ง

    นับแต่นั้นเป็นต้นมา เธอก็เข้าร่วมในการเดินขบวนประท้วงทุกครั้งที่จัดขึ้นในกรุงคาบูล เธอร่วมกับผู้หญิงจำนวนนับไม่ถ้วนเรียกร้องสิทธิในการทำงานและการศึกษา เธอเป็นผู้หนึ่งที่อยู่เบื้องหลังคำขวัญ “ผู้หญิงอัฟกันมีตัวตน” ซึ่งยิ่งเน้นให้เห็นความจริงที่ว่า ความกลัวได้ผลักไสให้ผู้หญิงอัฟกันถอยห่างจากโซเชียลมีเดียไปแล้ว

    บารักไซสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีทั้งในสาขานิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ เธอยังเรียนจบหลักสูตรเอ็มบีเอในระดับปริญญาโทอีกด้วย ในจดหมายที่เธอเขียนถึงบีบีซีได้บอกเล่าประสบการณ์การต่อสู้ที่ผ่านมา โดยเธอบอกว่า “ตายเพื่อเสรีภาพยังดีเสียกว่าอยู่อย่างทาส”

    *คนหนุ่มสาวที่ได้รับการศึกษาในประเทศนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักรบหญิงผู้กล้าหาญแห่งอัฟกานิสถาน ในวันหนึ่งพวกเขาจะเป็นผู้ชูธงแห่งเสรีภาพ ฉันเห็นสิ่งนี้ทุกวันในการประท้วงบนท้องถนน

  • นิโลฟาร์ บายัต

    อัฟกานิสถาน นักเล่นกีฬาวีลแชร์บาสเกตบอล

    เธอคือกัปตันทีมชาติกีฬาวีลแชร์บาสเกตบอล และผู้สนับสนุนสตรีที่มีความพิการคนสำคัญ นิโลฟาร์ บายัต จำต้องหลบหนีกลุ่มตาลีบันออกนอกประเทศพร้อมกับรามิชสามีของเธอ ซึ่งเขาก็เป็นนักกีฬาวีลแชร์บาสเกตบอลเช่นเดียวกัน ทั้งสองต่างเคยทำงานการกุศลให้กับกาชาดสากล

    ตั้งแต่อายุได้เพียงสองขวบ บ้านของเธอถูกยิงด้วยจรวดจนทำให้พี่ชายเสียชีวิตทันที ส่วนตัวเธอนั้นได้รับบาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง เธอลองเล่นบาสเกตบอลครั้งแรกในสนามเปิดสาธารณะใจกลางกรุงคาบูล ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของนักกีฬาหญิงหลายคนของอัฟกานิสถานมาแล้ว นอกจากนี้ บายัตยังเป็นปากเป็นเสียงให้ผู้ลี้ภัยชาวอัฟกันและก่อตั้งสมาคมสตรีอัฟกันขึ้นอีกด้วย

    บายัตหวังจะได้กลับไปเล่นบาสเกตบอลอีกครั้ง

    *ฉันหวังว่าที่อัฟกานิสถานจะถึงคราวจบเกมเสียที และเราจะไม่ต้องจ่ายค่าทำสงครามสำหรับเกมครึ่งหลัง ฉันหวังว่าจะมีรอยยิ้มที่แท้จริงบนใบหน้าของผู้คนของฉัน

  • จอส บอยส์

    สหราชอาณาจักร สถาปนิก

    ผู้อำนวยการร่วมของโครงการด้านสถาปัตยกรรม DisOrdinary Architecture Project ซึ่งนำศิลปินผู้พิการมาร่วมกันออกแบบสร้างสรรค์สิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อการเข้าถึงและเป็นส่วนหนึ่งของอาคารและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ

    ด้วยการผสานงานอาชีพสถาปนิกเข้ากับการเป็นนักรณรงค์เคลื่อนไหวของเธอ จอส บอยส์ ได้เป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มนักออกแบบสตรีนิยม Matrix ในช่วงทศวรรษ 1980 ทั้งเป็นหนึ่งในผู้เขียนหนังสือ “การสร้างพื้นที่: ผู้หญิงกับสภาพแวดล้อมที่ผู้ชายสร้างขึ้น” เธอยังทำงานเป็นนักวิชาการในสถาบันระหว่างประเทศหลายแห่ง ศึกษาการใช้พื้นที่ของกลุ่มสตรีนิยมเพื่อท้าทายอย่างสร้างสรรค์ต่อข้อสันนิษฐานบางประการในงานออกแบบสถาปัตยกรรม

    ตลอดเส้นทางอาชีพ 40 ปีเต็ม เธอได้สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับประเด็นที่ว่า เราจะใช้หลักปฏิบัติทางสังคมและหลักปฏิบัติทางวัตถุในชีวิตประจำวัน เข้าช่วยเหลือและสนับสนุนคนพิการได้อย่างไร

    *เราต้องใช้ประสบการณ์ที่หลากหลายของผู้พิการและบุคคลชายขอบอื่น ๆ เป็นศูนย์กลางให้มากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา โดยต้องตระหนักว่านี่คือการก่อกำเนิดที่สร้างสรรค์ เพื่อปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยสิ่งก่อสร้างของเราเสียใหม่ ให้เป็นพื้นที่ของการดูแลร่วมกันและการพึ่งพาอาศัยกัน

  • แคเทอรีน คอร์เลส

    ไอร์แลนด์ นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

    นักประวัติศาสตร์มือสมัครเล่นผู้สืบสวนการตายของเด็ก 796 คน ที่บ้านพักแม่และเด็ก Bon Secours ในเมือง Galway โดยใช้เวลาทำงานวิจัยอย่างยากลำบากนานหลายปี แต่ผลงานของเธอได้นำไปสู่การค้นพบหลุมฝังศพหมู่ ในพื้นที่ของสถาบันดูแลหญิงตั้งครรภ์นอกสมรสในอดีต ซึ่งทารกหลายร้อยคนได้หายตัวไปจากที่นั่นอย่างไร้ร่องรอย ระหว่างทศวรรษ 1920-1950 โดยไม่มีแม้หลักฐานการฝังศพพวกเขา

    ในปีนี้มีการเปิดเผยรายงานที่รอกันมานานเกี่ยวกับสถาบันดังกล่าว ซึ่งส่วนใหญ่บริหารโดยแม่ชีคาทอลิก รายงานระบุว่าพบ “อัตราการตายของทารกในระดับที่น่าตกใจอย่างยิ่ง” จากหลายสาเหตุ ทำให้รัฐบาลไอร์แลนด์ต้องออกมาแถลงขอโทษในเรื่องนี้

    คอร์เลสได้รับรางวัลสิทธิมนุษยชนของสภาทนายความแห่งไอร์แลนด์ ซึ่งเป็นการยกย่อง “ผลงานทางมนุษยธรรมอันโดดเด่น” ของเธอ

    *หากฉันสามารถทำให้โลกเริ่มต้นใหม่ได้ ฉันจะลบคำว่า “น่าละอาย” ทิ้งไป พจนานุกรมระบุความหมายของคำนี้ว่า เป็นความรู้สึกเจ็บปวดจากการถูกหมิ่นแคลน ทั้งเป็นความรู้สึกว่าตัวตนทั้งหมดของคุณล้วนผิดพลาด คำที่มี 5 ตัวอักษรนี้แหละที่ระเบิดพลังปรมาณู

  • ไฟซา ดาร์คานี

    อัฟกานิสถาน นักสิ่งแวดล้อม

    เธอเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่ทำงานในประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของอัฟกานิสถาน ไฟซา ดาร์คานี เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์และอดีตผู้อำนวยการสำนักงานพิทักษ์สิ่งแวดล้อมในจังหวัดบาดักชาน เธอยังเป็นผู้สนับสนุนส่งเสริมสิทธิสตรีอีกด้วย

    ดาร์คานีสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย Universiti Putra Malaysia ในสาขาการออกแบบภูมิทัศน์ เธอเคยเขียนรายงานวิจัยว่าด้วยการบริหารจัดการภูมิทัศน์ในเขตเมืองอย่างยั่งยืน รวมทั้งเทคนิคทางนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่นการทำสวนแนวตั้งเพื่อผลิตอาหารในพื้นที่ประชากรหนาแน่น

    เธอเชื่อมั่นในการสร้างความตระหนักรู้เรื่องการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมให้แก่คนทั่วไป รวมทั้งการดำเนินโครงการเพื่อความยั่งยืนที่มีผู้หญิงเป็นศูนย์กลาง

    *การที่คุณแตกต่างไปจากคนส่วนใหญ่ถือเป็นการตัดสินใจที่กล้าหาญ คุณต้องไล่ตามความฝันและทำมันให้เป็นจริง ส่วนฝันของฉันคือการมีสภาพแวดล้อมที่สะอาดและปลอดภัย ปราศจากสงคราม และปลอดมลภาวะทุกชนิด

  • อัซมินา โดรเดีย

    แคนาดา หัวหน้าด้านนโยบายความปลอดภัย แอปพลิเคชัน Bumble

    เธอคือผู้เชี่ยวชาญระดับแนวหน้าด้านเพศสภาพ เทคโนโลยี และสิทธิมนุษยชน ปัจจุบัน อัซมินา โดรเดีย ทำงานเป็นหัวหน้าด้านนโยบายความปลอดภัยให้กับแอปพลิเคชันหาคู่ Bumble โดยเมื่อเดือน ก.ค.ของปีนี้ เธอเป็นผู้รณรงค์ให้จัดทำจดหมายเปิดผนึกที่ลงนามโดยผู้นำสตรีระดับสูงกว่า 200 คน เรียกร้องให้มีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม เพื่อแก้ปัญหาการทำร้ายละเมิดผู้หญิงทางโซเชียลมีเดีย

    โดรเดียยังเป็นผู้เขียนหนังสือ “ทวิตเตอร์เป็นพิษ: ความรุนแรงและการละเมิดต่อผู้หญิงทางออนไลน์” ซึ่งเป็นรายงานเกี่ยวกับกรณีการถูกทำร้ายเนื่องจากเพศสภาพ ที่มักมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องชนชั้นและเชื้อชาติด้วย

    ก่อนหน้านี้โดรเดียทำงานด้านสิทธิทางเพศและสิทธิด้านข้อมูลที่มูลนิธิ World Wide Web รวมทั้งที่บริษัทด้านเทคโนโลยีอีกหลายแห่ง เพื่อสร้างประสบการณ์ออนไลน์ที่ปลอดภัยยิ่งขึ้นให้กับผู้หญิงและชุมชนผู้ด้อยโอกาส

    *ฉันต้องการโลกที่มีพื้นที่ออนไลน์ซึ่งออกแบบโดยคำนึงถึงประสบการณ์ของผู้หญิงด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงที่มีหลายอัตลักษณ์มาซ้อนทับและบรรจบรวมกันอยู่ พวกเธอควรจะได้ใช้พื้นที่ออนไลน์อย่างเท่าเทียมและเสรี โดยปราศจากความหวาดกลัว

  • ปาชตานา ดูร์รานี

    อัฟกานิสถาน ครูขององค์กร Learn Afghanistan

    ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการของ Learn Afghanistan ปาชตานา ดูร์รานี เป็นครูผู้อุทิศตนเพื่อนวัตกรรมการศึกษา โดยมุ่งให้ความสำคัญกับสิทธิของเด็กหญิง ปัจจุบันองค์กร Learn ได้ก่อตั้งโรงเรียนขึ้นหลายแห่งในเมืองกันดาฮาร์ รวมทั้งให้การฝึกอบรมครู และบริการแนะแนวแก่นักเรียน

    ทางองค์กรยังใช้แอปพลิเคชัน Rumie ช่วยเด็กหญิงให้ได้เข้าถึงทรัพยากรการเรียนรู้ต่าง ๆ รวมทั้งวิดีโอและเกมเพื่อการศึกษา โดยสามารถเข้าดูเนื้อหาให้ความรู้สั้น ๆ บทเรียนละ 6 นาทีได้ทางโทรศัพท์มือถือ นอกจากนี้ทางองค์กรยังจัดฝึกอบรมให้หญิงในชนบทได้เป็นผดุงครรภ์อีกด้วย

    ดูร์รานีเป็นผู้แทนเยาวชนอัฟกันประจำองค์การสหประชาชาติ เธอได้รับรางวัลผู้ต่อสู้เพื่อการศึกษาดีเด่นจากกองทุนมาลาลา เนื่องจากความพยายามช่วยเหลือให้เด็กหญิงทั้งหลายเข้าถึงการศึกษา

    *มันช่างน่าประหลาดที่ได้เห็นว่า โลกต้องการจะกดข่มเราเพียงเพราะตัวตนที่เราเป็นมากขนาดไหน แม้ว่าจะเจ็บปวด หวาดกลัว และได้รับบาดแผลมามาก เราก็จะยังคงพยายามต่อไป ไม่ว่าเส้นทางนี้จะยาวไกลสักแค่ไหนก็ตาม

  • นัจลา เอลมานกูช

    สหราชอาณาจักร รัฐมนตรีกิจการต่างประเทศลิเบีย

    เธอคือรัฐมนตรีต่างประเทศหญิงของลิเบียคนแรกที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งในปีนี้ ทั้งยังเคยเป็นนักการทูตและทนายความมากประสบการณ์อีกด้วย ระหว่างเหตุปฏิวัติของลิเบียเมื่อปี 2011 นัจลา เอลมานกูช เข้าร่วมเป็นสมาชิกสภาอำนวยการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของประเทศ โดยมุ่งสร้างความสัมพันธ์กับเหล่าองค์กรภาคประชาสังคม

    เธอเคยเป็นผู้แทนของลิเบียที่สถาบันสันติภาพแห่งสหรัฐอเมริกา ทั้งยังทำงานในโครงการกฎหมายกับการสร้างสันติภาพ ที่ศูนย์เพื่อศาสนาสากล การทูต และการแก้ไขความขัดแย้ง อย่างไรก็ตาม การเผชิญหน้าทางการเมืองในประเทศลิเบียบีบให้เธอต้องลาออก และเมื่อไม่นานมานี้ยังถูกสั่งห้ามเดินทางอีกด้วย

    เอลมานกูชสำเร็จการศึกษานิติศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเบงกาซี และได้รับปริญญาเอกด้านการวิเคราะห์และแก้ไข ความขัดแย้ง จากมหาวิทยาลัยจอร์จเมสันในสหรัฐฯ

    *โลกเปลี่ยนไปมากในปี 2021 ฉันอยากให้มันเริ่มต้นใหม่ โดยนำพาความหมายและจุดมุ่งหมายมาสู่ชีวิตของพวกเรา รวมทั้งเกิดสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติโดยรวมมากยิ่งขึ้น

  • ชีลา เอนซานดอสต์

    อัฟกานิสถาน ครู

    การสร้างความตระหนักรู้ถึงสิทธิของผู้หญิงและเด็กหญิงในระบบการศึกษา คือสิ่งสำคัญอันดับแรกสำหรับ ชีลา เอนซานดอสต์ คุณครูชาวอัฟกัน

    ครูเอนซานดอสต์ซึ่งเรียนจบมาทางด้านศาสนศึกษา ทำงานอย่างแข็งขันเพื่อส่งเสริมบทบาทของผู้หญิงในแวดวงการเมืองและกิจการพลเรือน เธอปรากฏตัวตามสื่อต่าง ๆ เพื่อพูดเกี่ยวกับสิทธิของผู้หญิงในการทำงานและการเรียนรู้ ไม่นานมานี้เธอเข้าร่วมการประท้วงครั้งใหญ่ในกรุงคาบูล โดยสวมผ้าขาวคล้ายผ้าห่อศพ เพื่อแสดงการต่อต้านการกดขี่ผู้หญิงในประเทศแห่งนี้

    นอกจากเป็นครูแล้ว เธอยังเป็นสมาชิกผู้ทำงานอย่างแข็งขันของสมาคมสตรีหลายแห่งในอัฟกานิสถานอีกด้วย

    *ฉันอยากเห็นผู้หญิงมีส่วนรวมในกิจการด้านต่าง ๆ ทั้งการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ อยากเห็นสิทธิในการศึกษาของผู้หญิงคงอยู่เช่นเดิม และอยากเห็นความรุนแรงรวมทั้งความไม่เท่าเทียมที่กระทำต่อผู้หญิงและชนกลุ่มน้อยถูกขจัดหมดสิ้นไป

  • ซาอีดา เอเตบารี

    อัฟกานิสถาน นักออกแบบเครื่องประดับ

    เธอคือนักธุรกิจ นักออกแบบเครื่องประดับ และผู้ทำเครื่องประดับที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ

    ผลงานของซาอีดา เอเตบารี ถูกนำออกแสดงที่สถาบันสมิธโซเนียนในกรุงวอชิงตันของสหรัฐฯ โดยผลงานของเธอได้รับแรงบันดาลใจจากเครื่องประดับรูปแบบดั้งเดิมในบ้านเกิด ซึ่งใช้อัญมณีและลวดลายท้องถิ่นของอัฟกานิสถาน

    ก่อนจะมาถึงวันนี้ เธอต้องสูญเสียการได้ยินเมื่อมีอายุได้เพียง 1 ขวบ หลังติดเชื้อไข้สมองอักเสบในค่ายผู้ลี้ภัย เธอสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนสอนคนหูหนวกที่พ่อของเธอมีส่วนร่วมก่อตั้ง จากนั้นจึงได้เข้าเรียนในสถาบันสอนศิลปะและสถาปัตยกรรมศาสตร์ของอัฟกานิสถาน ในสาขาออกแบบอัญมณีและเครื่องประดับโดยเฉพาะ

    *ตอนนี้ผู้หญิงต้องว่างงาน และมีแค่ผู้ชายเท่านั้นที่ทำงานได้ เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลไปแล้ว ความหวังของฉันที่จะเห็นอัฟกานิสถานมีอนาคตที่ดีขึ้น ต้องกลับกลายเป็นความสิ้นหวังไป

  • ซาฮาร์ เฟทรัต

    อัฟกานิสถาน นักกิจกรรมสตรีนิยม

    เธอคือพลังที่อยู่เบื้องหลังการประท้วงต่อต้านอคติทางเพศหลายต่อหลายครั้ง นักรณรงค์เคลื่อนไหวเพื่อแนวคิดสตรีนิยม ซาฮาร์ เฟทรัต เคยเป็นผู้ลี้ภัยที่อิหร่านและปากีสถานในวัยเด็ก ซึ่งเป็นช่วงที่ตาลีบันมีอำนาจปกครองอัฟกานิสถานครั้งแรก เธอกลับมายังกรุงคาบูลในปี 2006 ขณะเป็นวัยรุ่น และเริ่มเข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่มเฟมินิสต์นับแต่นั้นมา

    ซาฮาร์ผสานแนวคิดสตรีนิยมเข้าในเรื่องเล่าของเธอผ่านการเขียนและการถ่ายทำภาพยนตร์ เช่นในสารคดีเกี่ยวกับการลวนลามทางเพศบนท้องถนน Do Not Trust My Silence (2013) เธอยังทำงานร่วมกับหน่วยการศึกษาขององค์การยูเนสโกในอัฟกานิสถาน รวมทั้งกับองค์กรสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรท์วอทช์

    เธอสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทด้านเพศสภาพศึกษาเชิงวิพากษ์ จากมหาวิทยาลัย Central European University และปัจจุบันเข้าศึกษาต่อที่ภาควิชาสงครามศึกษาของมหาวิทยาลัย คิงส์ คอลเลจ ลอนดอน

    *ฉันหวังว่าจะได้เห็นวันที่เด็กหญิงเข้าถึงการศึกษาในฐานะสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ใช่สิ่งที่ต้องต่อสู้ให้ได้มา ฉันหวังว่าจะได้เห็นเด็กหญิงอัฟกันสู้เพื่อความฝันอันสูงส่งยิ่งกว่ายอดเขาในบ้านเกิดของพวกเธอ

  • เมลินดา เฟรนช์ เกตส์

    สหรัฐอเมริกา นักธุรกิจและผู้ทำการกุศล

    เธอคือนักธุรกิจหญิงและนักการกุศลผู้สนับสนุนสตรีและเด็กหญิงทั่วโลก เมลินดา เฟรนช์ เกตส์ คือผู้กำหนดทิศทางและนโยบายสำคัญขององค์กรการกุศลที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ในตำแหน่งประธานร่วมของมูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์

    เธอยังเป็นผู้ก่อตั้ง Pivotal Ventures บริษัทการลงทุนที่มุ่งสร้างความก้าวหน้าทางสังคมแก่ผู้หญิงและครอบครัว นอกจากนี้เธอยังเป็นผู้เขียนหนังสือขายดี The Moment of Lift อีกด้วย

    เฟรนช์ เกตส์ สำเร็จการศึกษาด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์และหลักสูตรเอ็มบีเอจากมหาวิทยาลัยดุ๊ก เธอทำงานพัฒนาผลิตภัณฑ์มัลติมีเดียที่บริษัทไมโครซอฟท์อยู่ถึงสิบปี ก่อนจะลาออกมาทุ่มเทให้กับการดูแลครอบครัวและงานการกุศล

    *การระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ได้เปิดเผยและขยายความไม่เท่าเทียมที่มีอยู่แล้วทั่วโลกให้ยิ่งร้าวลึกลงไปอีก หากเรายึดเอาผู้หญิงและเด็กหญิงเป็นศูนย์กลางในความพยายามฟื้นฟูสถานการณ์ครั้งนี้ จะเป็นทั้งการบรรเทาความทุกข์ยากในปัจจุบัน และสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับอนาคต

  • ฟาติมา ไกลานี

    อัฟกานิสถาน นักเจรจาสันติภาพ

    หนึ่งในสี่ผู้แทนหญิงที่เข้าเจรจาสันติภาพกับตาลีบันเมื่อปี 2020 โดยพยายามจะบรรลุถึงข้อตกลงทางการเมืองที่เป็นธรรม ฟาติมา ไกลานี เป็นผู้นำทางการเมืองและนักกิจกรรมคนสำคัญ ผู้มีส่วนรวมในงานด้านมนุษยธรรมตลอด 43 ปีที่ผ่านมา

    เธอเป็นหนึ่งในผู้หญิงที่เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของการต่อต้านสหภาพโซเวียต ซึ่งเข้ามายึดครองอัฟกานิสถานในช่วงทศวรรษ 1980 เธอยังเป็นโฆษกให้กลุ่มอัฟกันมูจาฮีดีนขณะลี้ภัยอยู่ที่กรุงลอนดอน เธอเดินทางกลับประเทศหลังกองกำลังสหรัฐฯ บุกในปี 2001 และได้ช่วยร่างรัฐธรรมนูญใหม่ของอัฟกานิสถานด้วย

    ระหว่างปี 2005-2016 เธอดำรงตำแหน่งประธานสภาเสี้ยววงเดือนแดงของอัฟกานิสถาน ซึ่งปัจจุบันเธอก็ยังเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหารอยู่

    *ฉันหวังว่าจะมีการเจรจาระดับชาติที่มีความหมาย ซึ่งจะบังเกิดผลเป็นการสร้างชาติอย่างแท้จริง

  • คาโรลีนา การ์เซีย

    อาร์เจนตินา ผู้กำกับ Netflix

    เธอคือผู้กำกับซีรีส์ต้นฉบับของค่ายสตรีมความบันเทิงยักษ์ใหญ่อย่าง Netflix คาโรลีนา การ์เซีย เกิดที่อาร์เจนตินา แต่ไปเติบโตที่รัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ เคยได้รับการฝึกฝนให้เป็นนักร้องและนักเต้นมืออาชีพมาก่อน แต่กลับมาไต่เต้าสู่ความสำเร็จในวงการบันเทิง โดยเริ่มเข้าฝึกงานที่บริษัท Twentieth Century Fox

    ในฐานะผู้บริหารฝ่ายงานสร้างสรรค์ เธอได้เป็นผู้ควบคุมดูแลการสร้างซีรีส์ยอดฮิตของ Netflix มาแล้วหลายเรื่อง รวมถึง Stranger Things, The Chilling Adventures of Sabrina, 13 Reasons Why, Atypical และ Raising Dion

    ในฐานะผู้หญิงเชื้อสายลาตินอเมริกาไม่กี่คนที่มีบทบาทนำในแวดวงฮอลลีวูด การ์เซียมุ่งมั่นทำงานเพื่อเพิ่มตัวแทนชาวลาตินอเมริกาทั้งชายและหญิงให้ปรากฏตัวบนหน้าจอมากขึ้น รวมทั้งมุ่งเน้นให้เรื่องราวของพวกเขามีความโดดเด่นยิ่งกว่าเดิม เนื่องจากปัจจุบันคนกลุ่มนี้มีมากถึงเกือบ 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมดในสหรัฐอเมริกา

    *ช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้เขย่าให้เราสั่นสะเทือนกันไปถ้วนหน้า แต่ชีวิตนั้นสั้นเหลือเกิน ทำไมจะต้องใช้เวลาอันมีค่าที่เหลือด้วยความหวาดกลัวล่ะ ยายของฉันเคยบอกว่า เราต้องใช้ชีวิตอย่างมีชีวิตชีวา และตอนนี้ก็ถึงเวลาที่พวกเราต้องฟังคำของยายฉันแล้ว

  • ซากี กาห์เรมาน

    อิหร่าน กวี

    เธอคือนักเขียนชาวแคนาดาเชื้อสายอิหร่าน เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและประธานองค์กรผู้มีความหลากหลายทางเพศแห่งอิหร่าน (IRQO)

    องค์กรดังกล่าวตั้งอยู่ที่นครโทรอนโตของแคนาดา โดยมุ่งทำงานพิทักษ์สิทธิของชาวเกย์ เลสเบี้ยน ไบเซ็กชวล และคนข้ามเพศที่ยังอาศัยอยู่ในประเทศอิหร่านหรือถูกเนรเทศไปแล้วก็ตาม ทางองค์กรยังเฝ้าจับตาสถานการณ์การละเมิดสิทธิชาวเกย์ในอิหร่านด้วย

    กาห์เรมานก่อตั้งสำนักพิมพ์ Gilgamishaan Books ในปี 2010 โดยมุ่งผลิต “วรรณกรรมเควียร์” หรืองานเขียนที่ไร้กรอบจำกัดทางเพศสภาพ เธอตีพิมพ์บทกวีมาแล้วถึง 4 เล่ม รวมทั้งเขียนบทความจำนวนมาก จนก้าวขึ้นเป็นบรรณาธิการและนักเขียนที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ งานเขียนของเธอมุ่งท้าทายแนวคิดที่มองว่า ความปกติทางเพศคือการจับคู่ระหว่างชายแท้และหญิงแท้เท่านั้น ส่วนบทบาททางเพศต้องถูกกำหนดด้วยลักษณะทางชีวภาพของร่างกายตามเพศกำเนิด

    *เมื่อโลกถูกทำให้เริ่มต้นใหม่ จะต้องมีเราทุกคนรวมเป็นส่วนหนึ่งอยู่ในนั้นด้วย โลกจะปลอดโควิดได้ก็ต่อเมื่อเราตั้งต้นใหม่ ให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศได้อภิสิทธิ์ทั้งหมดที่พวกนอกกลุ่ม LGBTQIA+ ถือว่าเป็นของตายสำหรับพวกเขา

  • กอว์กา

    อัฟกานิสถาน นักดนตรี

    เธอคือนักร้องผู้เปี่ยมความสามารถ ทั้งยังเป็นนักแต่งเพลงและผู้ประพันธ์คำร้องอีกด้วย กอว์กาทำงานในแวดวงอุตสาหกรรมดนตรีมานานกว่า 5 ปี เพลงของเธอมักมีเนื้อหาเกี่ยวกับเด็กหญิงและสตรีชาวอัฟกานิสถาน โดยมีแฟนเพลงชื่นชอบและติดตามอย่างเหนียวแน่น เนื้อร้องของเพลงมักเป็นการประท้วงต่อสถานการณ์ปัจจุบันในประเทศ

    เมื่อปี 2019 เธอนำเอาบทกวี “ฉันจูบเธอท่ามกลางตาลีบัน” ของรามิน มาซาร์ มาใส่ทำนองเพลง จนกลายเป็นที่ชื่นชอบและส่งต่อกันไปอย่างกว้างขวางทางออนไลน์ ส่วนซิงเกิลล่าสุดของเธอที่ชื่อว่า Tabassum ได้อุทิศให้กับ “เด็ก ๆ ที่ความฝันของพวกเขาถูกลบทิ้งเพราะสงคราม”

    กอว์กาบอกว่าเธอต้องแต่งเพลง เนื่องจาก “สงครามที่ไม่มีวันสิ้นสุดในประเทศของฉัน ไม่เคยยอมให้ฉันได้พบความสงบสุขเสียที” ดังนั้นเนื้อร้องในเพลงของเธอจึงสะท้อนถึงความทุกข์ทรมานนี้

    *ท้องฟ้าเหนือแผ่นดินแม่ของฉัน ถูกประดับประดาไปด้วยว่าวหลากสีสันที่มีมากพอ ๆ กับขีปนาวุธ ฉันคิดถึงเหล่าผู้คนของฉัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงและเด็ก คิดถึงในทุกนาทีของทุกชั่วโมง เพื่อนที่อยู่กับฉันเสมอคือความหวาดหวั่นและห่วงกังวลต่อสวัสดิภาพของพวกเขา

  • แอนเจลา กายูร์

    อัฟกานิสถาน ครูและผู้ก่อตั้งโรงเรียนออนไลน์เฮรัต

    ขณะนี้นักเรียนเกือบ 1,000 คนและครูกว่า 400 คน ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนออนไลน์เฮรัต ซึ่งก่อตั้งโดยคุณครูแอนเจลา กายูร์ เธอตัดสินใจเปิดช่องทางการศึกษานี้ขึ้นมา หลังกลุ่มตาลีบันมีคำสั่งให้เด็กหญิงและหญิงสาวอยู่กับบ้าน ปัจจุบันโรงเรียนออนไลน์แห่งนี้เปิดทำการสอนกว่า 170 ชั้นเรียน ผ่านแอปพลิเคชันเทเลแกรมและสไกป์ โดยมีวิชาให้เรียนหลากหลาย ตั้งแต่คณิตศาสตร์ไปจนถึงดนตรี คหกรรม และศิลปะ

    ครูกายูร์ลี้ภัยสงครามกลางเมืองจากบ้านเกิดที่เมืองเฮรัต ไปตั้งรกรากที่อิหร่านตั้งแต่ปี 1992 ในตอนนั้นเธอต้องหยุดเรียนไปนานถึง 5 ปี เพราะครอบครัวถือวีซ่าที่มีเพียงสถานการณ์พำนักชั่วคราว

    ในภายหลังเธอสามารถสอบผ่านเป็นครูผู้สอนในระดับมัธยมศึกษา และได้ย้ายถิ่นพำนักไปอีกหลายประเทศ จนในที่สุดก็ลงหลักปักฐานที่สหราชอาณาจักร

    *ฉันขอปฏิเสธไม่ยอมรับสิ่งที่เรียกกันว่าความจำเป็นอันชั่วร้าย ความสุขนิรันดร์จะเป็นจริงได้ ก็ต่อเมื่อโลกหยุดยั้งวงจรอุบาทว์ซึ่งผู้คนพากันมองเรื่องเลวทรามเป็นของธรรมดา ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่ยอมรับตาลีบันหรือความชั่วร้ายแบบอื่นใดทั้งสิ้น

  • จามิลา กอร์ดอน

    โซมาเลีย ซีอีโอ Lumachain

    เธอคือผู้นำทางความคิดแห่งโลกปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) จามิลา กอร์ดอน เป็นผู้ก่อตั้ง Lumachain แพลตฟอร์มหรือฐานบริการแห่งแรกซึ่งใช้เอไอเข้าเชื่อมต่อจุดที่ขาดหายไปในห่วงโซ่อุปทานด้านอาหารของโลก

    กอร์ดอนเกิดที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในโซมาเลีย แต่ในช่วงวัยรุ่นเธอต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นในเคนยา เนื่องจากหลบหนีภัยการสู้รบในสงครามกลางเมือง หลังจากนั้นเธออพยพมายังออสเตรเลียและเริ่มสนใจวงการเทคโนโลยี ก่อนที่จะก่อตั้งบริษัท Lumachain เธอเป็นผู้บริหารระดับโลกของ IBM และหัวหน้าเจ้าหน้าที่ด้านข้อมูลข่าวสารของเครือบริษัทสายการบินควอนตัส

    เธอเคยได้รับรางวัล Microsoft Global Awardee ในการประกวดสตรีนักธุรกิจนานาชาติปี 2018 ทั้งยังครองตำแหน่งผู้สร้างนวัตกรรมแห่งปี 2021 ของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ โดยได้รับรางวัลสำหรับสตรีในวงการเอไอ

    *ฉันเชื่ออย่างสุดหัวใจว่า พลังของปัญญาประดิษฐ์จะทำให้คนที่มีภูมิหลังมาจากกลุ่มด้อยโอกาส สามารถยืนอยู่ในสังคมตรงจุดที่พวกเขามีสิทธิครอบครองอย่างเต็มที่ โดยมันจะช่วยเปลี่ยนแปลงธุรกิจต่าง ๆ ไปด้วย

  • นาจิลา ฮาบิบยาร์

    อัฟกานิสถาน นักธุรกิจ

    เธอช่วยเหลือผู้หญิงอัฟกันให้เริ่มทำธุรกิจการทอผ้า และยังช่วยขายสินค้าเหล่านั้นให้ในต่างประเทศ โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางที่ผู้ผลิตต้องเสียค่าใช้จ่ายแพง นาจิลา ฮาบิบยาร์ คือผู้ก่อตั้งบริษัท Blue Treasure Inc. และเครือบริษัท Ark Group โดยเธอยังเป็นผู้นำโครงการเสริมสร้างพลังความแข็งแกร่งให้กับสตรี และโครงการความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจต่าง ๆ ให้กับ USAID และธนาคารโลกด้วย

    ระหว่างปี 2012-2015 ฮาบิบยาร์ดำรงตำแหน่งประธานผู้บริหารสำนักงานส่งเสริมการส่งออกของรัฐบาล ซึ่งช่วยเพิ่มการส่งออกสินค้าจากอัฟกานิสถานไปสู่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

    เธอยังทำงานให้องค์กรไม่แสวงผลกำไรต่าง ๆ มานานกว่า 13 ปี ส่งเสริมการศึกษาของเด็กหญิง และก่อตั้งองค์กรดูแลครอบครัวไร้บ้าน The Afghan Veracity Care for Unsheltered Families

    *แม้ต้องประสบความทุกข์ยากในฐานะผู้หญิงชาวอัฟกัน แต่ฉันหวังว่าจะสามารถทำอะไรสักอย่าง เพื่อยุติการสืบทอดมรดกสงครามไปยังคนรุ่นถัดไป

  • ไลลา ไฮดารี

    ปากีสถาน ผู้ก่อตั้งศูนย์บำบัด Mother Camp

    ศูนย์บำบัด Mother Camp หรือ “ค่ายคุณแม่” เป็นสถานบำบัดผู้ติดยาเสพติดที่ไลลา ไฮดารี ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ชาวอัฟกันไปแล้วเกือบ 6,400 คน นับแต่ปี 2010 เป็นต้นมา แม้การข้องเกี่ยวกับคนติดยาจะเป็นเรื่องต้องห้าม เธอก็ยังก่อตั้งศูนย์แห่งนี้ขึ้นโดยใช้เงินเก็บส่วนตัว และยังหารายได้มาใช้จ่ายภายในศูนย์ ด้วยการทำร้านอาหารที่ผู้ติดยาเสพติดซึ่งเริ่มฟื้นตัวแล้วมาช่วยงาน แต่ร้านนี้ต้องปิดตัวลงหลังกรุงคาบูลถูกยึดครอง

    เดิมทีนั้นครอบครัวของไฮดารีมาจากเมืองบัมยันของอัฟกานิสถาน แต่เธอกลับเกิดในค่ายผู้ลี้ภัยของปากีสถาน และต้องกลายเป็นเจ้าสาวเด็กซึ่งแต่งงานเมื่อมีอายุเพียง 12 ปี แม้จะมีชะตากรรมเช่นนั้น แต่เธอยังคงเป็นผู้เรียกร้องและสนับสนุนสิทธิสตรีตัวยงของประเทศ

    เธอปรากฏตัวในภาพยนตร์สารคดีเรื่องดัง Laila at the Bridge (2018) ซึ่งเป็นเรื่องราวการต่อสู้ของเธอเพื่อให้ศูนย์บำบัดได้เปิดให้บริการต่อไป แม้ต้องเผชิญกับคำขู่และการต่อต้านก็ตาม

    *ฉันหวังว่าความตระหนักในปัญหานี้จะขยายวงกว้างออกไป เพื่อที่เราจะได้มีโลกที่เปี่ยมคุณธรรมและมีความเป็นมนุษย์มากขึ้น เราต่างอยู่ในโลกที่เชื่อมโยงถึงกันและกัน การออกเสียงเลือกตั้งของพลเมืองอเมริกัน ก็สามารถเปลี่ยนแปลงชะตากรรมของชาวอัฟกันได้ในระดับรากฐานเลยทีเดียว

  • ซาร์ลาชต์ ฮาเลมไซ

    อัฟกานิสถาน ประธานผู้บริหาร Refugee Trauma Initiative

    เธอคืออดีตผู้ลี้ภัยจากอัฟกานิสถาน ซาร์ลาชต์ ฮาเลมไซ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและประธานผู้บริหารขององค์กร Refugee Trauma Initiative ซึ่งให้ความช่วยเหลือด้านจิตใจแก่ผู้อพยพ โดยช่วยสนับสนุนให้พวกเขาสามารถรับมือกับผลระทบทางอารมณ์ ที่เกิดจากความรุนแรงและการพลัดถิ่น

    ก่อนจะก่อตั้ง RTI เธอเคยทำงานที่แนวพรมแดนของซีเรียด้านที่ติดกับตุรกี ให้ความช่วยเหลือเด็กกลุ่มที่เสี่ยงภัยอันตรายในพื้นที่ให้เข้าถึงการศึกษา รวมทั้งให้คำแนะนำกับองค์กรเอกชนอื่น ๆ ในเรื่องการศึกษาและสุขภาวะของผู้ลี้ภัยด้วย

    ฮาเลมไซเป็นหนึ่งในสมาชิกรุ่นแรกของมูลนิธิโอบามาซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2018 โดยสมาชิกกลุ่มนี้ประกอบไปด้วยผู้นำด้านนวัตกรรมเพื่อพลเมืองจากทั่วโลก 20 คน และได้รับการสนับสนุนจากอดีตประธานาธิบดี บารัก โอบามา ของสหรัฐฯ

    *ความหวังสำหรับอนาคตของฉันก็คือ การยุติวงจรความรุนแรงที่ยังคงบดขยี้ชีวิตของชาวอัฟกานิสถาน

  • ชามเซีย ฮัสซานี

    อิหร่าน ศิลปินข้างถนน

    เธอคือผู้นำสีสันมาสู่เมืองที่ถูกทำลายด้วยสงคราม ชามเซีย ฮัสซานี เป็นศิลปินหญิงผู้รังสรรค์ผลงานกราฟฟิติและศิลปะข้างถนนคนแรกของอัฟกานิสถาน เธอใช้อาคารที่ถูกทิ้งร้างหรือพังเสียหายของกรุงคาบูล สร้างจิตรกรรมฝาผนังที่ฉายภาพผู้หญิงในบุคลิกที่เปี่ยมด้วยความมั่นใจ ทรงพลัง และมีความทะเยอทะยาน

    แม้จะมีพ่อแม่เป็นชาวอัฟกานิสถาน แต่ฮัสซานีเกิดในประเทศอิหร่าน เธอเรียนด้านทัศนศิลป์ในกรุงคาบูลและเคยเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยคาบูลด้วย เธอเคยสร้างผลงานศิลปะบนผนังมาแล้วใน 15 ประเทศ และได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งใน “ร้อยนักคิด” ของวารสาร Foreign Policy เรื่องราวชีวิตของเธอถูกรวมอยู่ในหนังสือชุดสำหรับเด็ก “นิทานก่อนนอนสำหรับเด็กหญิงหัวขบถ” ซึ่งรวบรวมประวัติของเหล่าสตรีผู้บุกเบิกวงการต่าง ๆ จากทั่วโลก

    แม้กลุ่มตาลีบันจะเข้ายึดครองอัฟกานิสถาน แต่เธอยังคงสร้างสรรค์ผลงานและนำลงเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ต่อไป

    *ตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา เมื่อไหร่ที่ฉันมีความหวังกับอัฟกานิสถาน สถานการณ์จะเริ่มเลวร้ายลงไปเสมอ ฉันไม่มีความหวังว่าประเทศนี้จะมีอนาคตสดใสอีกแล้ว อย่าตั้งความหวังแต่แรกเสียดีกว่าจะมาสิ้นหวังในภายหลัง

  • นัสริน ฮุสเซนี

    อัฟกานิสถาน สัตวแพทย์

    เธอคือนักศึกษาสัตวแพทยศาสตร์หญิงเพียง 1 ใน 2 คน ท่ามกลางชั้นเรียนขนาดใหญ่ราว 75 คน ที่มหาวิทยาลัยกรุงคาบูล นัสริน ฮุสเซนี เกิดที่ค่ายผู้ลี้ภัยในอิหร่าน แต่ได้เดินทางกลับมาศึกษาต่อในอัฟกานิสถาน หลังจากนั้นเธอได้ย้ายไปแคนาดา เพราะได้รับทุนให้เข้าเรียนด้านสุขภาพสัตว์ที่มหาวิทยาลัย University of Guelph

    ขณะนี้เธอทำวิจัยในห้องปฏิบัติการด้านภูมิคุ้มกันวิทยา และทำงานอาสาสมัครในยามว่างกับองค์กรของแคนาดา ซึ่งองค์กรนี้ให้ความช่วยเหลือแก่ชนกลุ่มน้อยชาวฮาซาราและคนชายขอบกลุ่มอื่น ๆ ที่อัฟกานิสถาน หากพวกเขาต้องการขอลี้ภัยและตั้งถิ่นฐานใหม่ที่แคนาดา

    เธอยังร่วมงานกับโครงการ “หนอนหนังสือ” สำหรับเยาวชน ซึ่งส่งเสริมการอ่านและฝึกทักษะการเล่าเรื่องในหมู่เด็กเชื้อสายอัฟกัน

    *ผู้หญิงและเด็กชาวอัฟกันต่างหวาดกลัว ส่วนสถานการณ์ปัจจุบันก็ทำให้พวกเขาสิ้นหวัง แต่ทุกอย่างจะมีทางออกเสมอ อย่างที่บ็อบ มาร์เลย์ เคยกล่าวไว้ว่า “คุณไม่มีทางรู้หรอกว่าตัวเองแข็งแกร่งแค่ไหน จนกว่าความแข็งแกร่งจะกลายเป็นทางเลือกเดียวของคุณ

  • โมเมนา อิบราฮิมี

    อัฟกานิสถาน ตำรวจหญิง

    สามปีหลังเข้าร่วมงานกับกองกำลังตำรวจ โมเมนา อิบราฮิมี หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า โมเมนา คาร์บาลายี กลับถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยผู้บังคับบัญชาของเธอ เธอตัดสินใจเปิดเผยเรื่องนี้ภายในเวลาไม่นานหลังประสบเหตุ โดยพูดเกี่ยวกับประสบการณ์ของเธอ รวมทั้งข้อกล่าวหาอื่น ๆ ว่าด้วยการทำร้ายละเมิดในกองกำลังตำรวจอัฟกานิสถาน

    นับแต่นั้นมา เธอได้ต่อสู้ทวงความยุติธรรมให้ตนเอง รวมทั้งผู้ผ่านการถูกข่มขืนและล่วงละเมิดทางเพศคนอื่น ๆ แม้จะถูกข่มขู่ก็ตาม “ฉันเชื่อว่าควรจะต้องมีใครบางคนพูดออกมา และยังคิดว่าคนนั้นจะเป็นฉันก็ได้ แม้มันอาจทำให้ฉันต้องถึงที่ตายก็ตาม” อิบราฮิมีบอกกับบีบีซี

    เธอเป็นหนึ่งในผู้อพยพหลายพันคนที่เดินทางมาสหราชอาณาจักร หลังกลุ่มตาลีบันหวนคืนสู่อำนาจ เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

    *ฉันหวังว่าผู้หญิงทุกคนที่ต่อสู้ฟันฝ่ามานานหลายปี พยายามเล่าเรียนและสร้างอาชีพให้ตนเอง จะสามารถกลับไปทำงาน และเป็นอิสระจากกองกำลังที่ใช้อำนาจต่อต้านผู้คนของตัวเอง

  • มุกดา กาฬะรา

    อินเดีย ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มรณรงค์ Not That Different

    นักรณรงค์เพื่อสิทธิของผู้ป่วยออทิสติก และแม่ของลูกวัย 12 ปีที่มีอาการอยู่ในกลุ่มออทิซึมสเปกตรัม (ASD) มุกดา กาฬะรา ได้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Not That Different หรือ “ไม่ได้ต่างกันขนาดนั้น” ซึ่งเป็นขบวนการที่มีเด็กเป็นผู้นำเรียกร้องการยอมรับและความเข้าอกเข้าใจใน “ผู้มีความหลากหลายทางระบบประสาท” (neurodiversity) เธอคือผู้อยู่เบื้องหลังการนำเสนอการ์ตูนที่วาดเป็นช่องเพื่อส่งเสริมให้เด็ก ๆ เข้าใจโรคออทิสติกดีขึ้น และร่วมยืนหยัดเคียงข้างเพื่อนคนพิเศษเหล่านี้

    กาฬะรามีประสบการณ์มากกว่า 20 ปีในวงการออกอากาศและกระจายเสียง เธอเคยเป็นผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ นักเขียนบทภาพยนตร์สารคดี รวมทั้งเป็นโค้ชของกิจกรรมฝึกสร้างการยอมรับในความหลากหลาย

    เธอยังเป็นหัวหน้านักวางกลยุทธ์ด้านเนื้อหาของ Bakstage แอปพลิเคชันออกอากาศสดทางพอดคาสต์ที่ผู้ฟังสามารถมีปฏิสัมพันธ์ด้วยได้

    *การระบาดใหญ่ทำให้ชาวโลกกว่าเจ็ดพันล้านคนต้องใช้ชีวิตอยู่กับความเป็นจริงแบบเดียวกัน แม้จะโดดเดี่ยวในโลกของตนเอง แต่ก็เชื่อมโยงผูกพันกันด้วยความทุกข์ยากที่ไม่แตกต่าง ฉันอยากให้ประสบการณ์ร่วมนี้เป็นแรงบันดาลใจ ช่วยให้ผู้คนมีความเห็นอกเห็นใจมากขึ้นต่อเพื่อนมนุษย์

  • เฟรชตา คาริม

    อัฟกานิสถาน ผู้ก่อตั้งห้องสมุดเคลื่อนที่ Charmaghz

    พวกเขาเปลี่ยนรถบัสให้เป็นห้องสมุดเคลื่อนที่ องค์กรเอกชน Charmaghz ตระเวนไปตามชุมชนต่าง ๆ ของกรุงคาบูล นำหนังสือและกิจกรรมศิลปะไปสู่เด็ก ๆ ครั้งละหลายร้อยคน

    นักรณรงค์ต่อสู้เพื่อสิทธิเด็ก เฟรชตา คาริม ก่อตั้งองค์กรแห่งนี้ขึ้นเมื่อปี 2018 หลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด

    เธอเริ่มทำงานด้านสิทธิเด็กตั้งแต่อายุเพียง 12 ปี โดยเป็นผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก จัดทำรายงานว่าด้วยสถานการณ์ของสิทธิเด็กในอัฟกานิสถาน และได้ทำงานในเส้นทางสายนี้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

    *ฉันทำงานกับเด็กเพราะมองว่าพวกเขาคือ “ผู้ทำลายวงจร” ที่จะมาตัดวงจรอุบาทว์ของการกดขี่และความรุนแรงในอัฟกานิสถานให้หมดไป รวมทั้งจะสร้างพื้นที่สำหรับการเยียวยา เรื่องเล่าใหม่ และการเมืองใหม่

  • อามีนา คาริมยัน

    อัฟกานิสถาน นักดาราศาสตร์

    เธอเป็นวิศวกรโยธาและอาจารย์ผู้สอนที่สถาบันเทคนิคเมืองเฮรัต อามีนา คาริมยัน เป็นหนึ่งในผู้หญิงคนแรก ๆ ที่ทุ่มเทให้กับความก้าวหน้าทางดาราศาสตร์ของประเทศอัฟกานิสถาน

    เธอเป็นประธานผู้บริหารและผู้ก่อตั้งกลุ่มศึกษาดาราศาสตร์ Kayhana โดยกลุ่มนี้เปิดตัวเมื่อปี 2018 และมีวัตถุประสงค์จะส่งเสริมการเรียนรู้ดาราศาสตร์ในหมู่เยาวชนคนหนุ่มสาว

    เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กลุ่มศึกษาดาราศาสตร์ของคาริมยันซึ่งเป็นหญิงล้วน ได้รับรางวัลจากการแข่งขันแสดงความรู้ทางดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์ระดับนานาชาติ ซึ่งงานนี้สหภาพดาราศาสตร์โลกเป็นผู้จัดขึ้น

    *ในขณะที่ตาลีบันปฏิเสธสิทธิในการศึกษาของเด็กหญิง เราต้องติดต่อเชื่อมสัมพันธ์กันให้เหนียวแน่นยิ่งขึ้น กลุ่มศึกษาดาราศาสตร์ Kayhana พบปะกันทางออนไลน์ทุกคืน และความหวังเดียวของฉันคือการได้ปูทางสู่อนาคตให้กับเยาวชนในบ้านเกิด

  • อาลิยา คาซิมี

    อัฟกานิสถาน นักการศึกษา

    อาลิยา คาซิมี มีส่วนร่วมพัฒนาการศึกษาและสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่ก่อนที่ตาลีบันจะเข้ายึดครองกรุงคาบูลในปีนี้ เธอเคยทำงานร่วมกับกาชาดในฐานะอาสาสมัครเป็นเวลา 3 ปี ก่อนจะเปิดร้านทำขนมหวานและเริ่มธุรกิจขนมอบเพื่อผู้หญิง เธอสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทด้านการบริหารธุรกิจเมื่อปีที่แล้ว เคยสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยและมีแผนจะเป็นอาจารย์ประจำผู้บรรยายในมหาวิทยาลัยด้วย

    หลังตาลีบันกลับมาปกครองประเทศอีกครั้ง คาซิมีต้องลี้ภัยไปสหรัฐฯ ตอนนี้เธอมีแผนจะศึกษาต่อระดับปริญญาเอก

    คาซิมีเขียนจดหมายถึงบีบีซี โดยแสดงความเห็นโต้เถียงอย่างเผ็ดร้อนถึงสิทธิในการเลือกของผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิในการแต่งกายและเสื้อผ้าที่สวมใส่

    *ความหวังเดียวของฉันคือการที่อัฟกานิสถานมีสันติสุข สันติสุขนั้นเป็นสิ่งที่เราต้องการมากที่สุด

  • บารอนเนส เฮเลนา เคนเนดี QC

    สหราชอาณาจักร ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งเนติบัณฑิตยสภาระหว่างประเทศ

    เธอคือทนายความชาวสกอต ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีว่ามุ่งมั่นพิทักษ์สิทธิของสตรีและชนกลุ่มน้อย บารอนเนส เฮเลนา เคนเนดี QC ว่าความโดยเชี่ยวชาญในคดีอาญามากว่า 40 ปี และเป็นผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งเนติบัณฑิตยสภาระหว่างประเทศ ซึ่งให้ความช่วยเหลือผู้หญิงที่เสี่ยงภัยอันตรายจำนวนมากในอัฟกานิสถาน

    เธอเคยเป็นอาจารย์ใหญ่ของวิทยาลัยแมนส์ฟีลด์แห่งมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดมานานหลายปี นอกจากนี้ยังเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันสิทธิมนุษยชนโบราเวโรอันลือลั่นขึ้นที่นั่นด้วย

    บารอนเนสเคนเนดีตีพิมพ์หนังสือหลายเล่ม ซึ่งว่าด้วยผลกระทบของระบบยุติธรรมต่อผู้หญิง และในปี 1997 เธอได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาขุนนางของอังกฤษ โดยเป็นผู้แทนจากพรรคเลเบอร์

    *คำว่าสิทธิมนุษยชนของเราจะไร้ความหมาย หากไม่มีทนายความคอยโต้เถียงต่อสู้ให้ รวมทั้งไม่มีผู้พิพากษาชายและหญิงที่เป็นอิสระมาพิจารณาตัดสินคดีความนั้น

  • โฮดา คามอช

    อิหร่าน นักรณรงค์เรื่องประจำเดือน

    “การมีประจำเดือนไม่ใช่เรื่องต้องห้าม” เป็นชื่อของโครงการสร้างความตระหนักรู้ที่ โฮดา คามอช นักกิจกรรมเพื่อสิทธิสตรี ดำเนินการอยู่ในโรงเรียนหลายแห่งของอัฟกานิสถาน เพื่อส่งเสริมการพูดคุยอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับประจำเดือนของผู้หญิง

    เธอเกิดที่อิหร่านเพราะพ่อแม่เป็นชาวอัฟกันพลัดถิ่น เธอกลับมาที่อัฟกานิสถานตั้งแต่ยังเด็ก โดยมีแม่เป็นคนคอยส่งเสียค่าเล่าเรียนให้ ท่ามกลางเสียงคัดค้านของบรรดาเครือญาติหัวเก่า คามอชยังเป็นกวีและผู้สื่อข่าว จนได้มาเป็นผู้ประกาศทางวิทยุในปี 2015 เธอเน้นนำเสนอประเด็นความอยุติธรรมต่อผู้หญิง และเริ่มทำโครงการส่งเสริมการรู้หนังสือของผู้หญิงในหมู่บ้านของเธอ

    นับแต่ตาลีบันเข้ายึดอำนาจ เธอเริ่มเปิดการบรรยายเพื่อให้ความรู้แก่เด็กหญิงในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ขึ้นไป เนื่องจากเยาวชนเหล่านี้ถูกตาลีบันสั่งห้ามไม่ให้ไปโรงเรียน

    *แม้จะดูมืดมิดไปทุกทาง แต่ปี 2021 ก็เป็นปีที่ผู้หญิงยืนหยัดขึ้นต่อต้านการเฆี่ยนตีและลูกกระสุน รวมทั้งเรียกร้องสิทธิของพวกเธอจากคนที่เอามันไปโดยตรง ฉันขอตั้งชื่อปีนี้ว่า ปีแห่งความหวัง

  • มีอา กฤษณะ ประถิวี

    อินโดนีเซีย นักสิ่งแวดล้อม

    นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมผู้นี้มุ่งแก้ไขวิกฤตขยะพลาสติกบนเกาะบาหลี ผ่านการทำงานขององค์กรไม่แสวงผลกำไร Griya Luhu โดยทีมของเธอได้ร่วมกับชุมชนท้องถิ่นพัฒนาระบบ “ธนาคารขยะดิจิทัล” แอปพลิเคชันที่ช่วยให้การจัดเก็บและกระบวนการแปรรูปขยะดีขึ้น ทั้งยังช่วยรวบรวมข้อมูลเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงระบบบริหารจัดการขยะต่อไป

    หลังสำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งบันดุง มีอา กฤษณะ ประถิวี ได้เริ่มงานในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลงานประจำวันทั่วไปของธนาคารขยะในท้องถิ่น

    เธอยังเป็นนักวิเคราะห์สิ่งแวดล้อม ประจำสำนักงานสิ่งแวดล้อมเมืองเดนปาซาร์อีกด้วย

    *ด้วยจิตวิญญาณของปรัชญาบาหลีแห่ง “ตรีหิตะกรณะ” เรามาช่วยกันนำสมดุลและความกลมกลืนกลับคืนสู่โลกและพระแม่ธรณีกันเถอะ แม้ว่าเราอาจเป็นสาเหตุของปัญหามลภาวะ แต่ก็อาจจะเป็นทางออกของมันด้วยก็เป็นได้

  • ไฮดี เจ. ลาร์สัน

    สหรัฐอเมริกา ผู้อำนวยการโครงการ The Vaccine Confidence Project

    ศาสตราจารย์ไฮดี เจ. ลาร์สัน เป็นนักมานุษยวิทยา และผู้อำนวยการโครงการ The Vaccine Confidence Project ที่วิทยาลัยการสุขอนามัยและเวชศาสตร์เขตร้อนแห่งกรุงลอนดอน เธอเป็นผู้นำการศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยทางสังคมและการเมืองที่กระทบต่อการเข้าแทรกแซงจัดการปัญหาสุขภาพ ความสนใจทางวิชาการในปัจจุบันของเธอได้แก่เรื่องการบริหารจัดการความเสี่ยงและข่าวเล่าลือ รวมทั้งวิธีสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจแก่สาธารณชนในเรื่องของวัคซีน

    เธอเป็นผู้เขียนหนังสือ “ภาวะติดขัด: ข่าวเล่าลือเรื่องวัคซีนเริ่มต้นขึ้นอย่างไร แล้วเหตุใดจึงไม่หมดไปเสียที” เธอยังเป็นผู้ตรวจสอบหลักของโครงการวิจัยระดับโลก ซึ่งศึกษาเรื่องการยอมรับวัคซีนของมารดาระหว่างตั้งครรภ์

    ในปีนี้ศาสตราจารย์ลาร์สันยังได้รับเหรียญรางวัลเอดินบะระ จากผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของเธอ ในเรื่องการแพร่กระจายของข้อมูลข่าวสารที่เป็นเท็จ

    *โรคระบาดเกิดขึ้นในโลกที่มีการแบ่งขั้วแบ่งข้างกันอยู่แล้ว ไม่มีวัคซีนใดจะช่วยเราให้พ้นจากปัญหาเบื้องลึกที่แบ่งแยกเราอยู่ มีเพียงการลงมือทำงานทั้งในฐานะปัจเจกชนคนหนึ่งและในฐานะของชุมชน รวมทั้งในฐานะของผู้นำรายใหญ่และรายย่อยเท่านั้น ที่จะช่วยเปลี่ยนโลกได้

  • อิมาน เลอ แกร์

    อียิปต์ ผู้ก่อตั้งองค์กร Trans Asylias

    แม้จะเคยเป็นนักเต้นและนักออกแบบท่าเต้นร่วมสมัยที่โรงละครไคโรโอเปร่าเฮาส์ อิมาน เลอ แกร์ ต้องหลบหนีออกจากประเทศอียิปต์เพราะการตามล่าปราบปรามกลุ่ม LGBTQ+ ของตำรวจ เธอมายังสหรัฐฯ ในปี 2008 และได้รับสถานะผู้ลี้ภัย ปัจจุบันเธอพำนักอาศัยที่นครนิวยอร์ก โดยเป็นศิลปิน นักเต้น นักแสดง และนักรณรงค์ต่อสู้เพื่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ

    เลอ แกร์ เป็นผู้อำนวยการฝ่ายความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศอาหรับ และคณะกรรมการขององค์กร TransEmigrate ซึ่งเป็นองค์กรของยุโรปที่ช่วยเหลือคนข้ามเพศให้ได้อพยพมายังประเทศที่ปลอดภัยกว่า

    เมื่อเดือนมีนาคมของปีนี้ เธอเปิดตัวองค์กรใหม่ของตนเองที่มีชื่อว่า TransAsylias ซึ่งมีภารกิจ “นำคนข้ามเพศที่ต้องการลี้ภัยมายังดินแดนที่เป็นมิตร” รวมทั้งให้การช่วยเหลือสนับสนุนทางใจแก่พวกเขาด้วย

    *การระบาดครั้งใหญ่ทำให้คนข้ามเพศซึ่งเป็นผู้เสี่ยงอันตรายมากที่สุดในโลกอยู่แล้ว ต้องเผชิญภัยต่าง ๆ มากขึ้น เช่นถูกบังคับให้เก็บตัวอยู่ครอบครัวที่คอยข่มเหงทำร้าย เมื่อทั่วโลกปิดประเทศ เสียงร้องขอความช่วยเหลือจากพวกเขาเริ่มทำให้ใจสลาย ตอนนี้โลกต้องปกป้องและช่วยเยียวยาพวกเขา

  • เซวิดเซม เออร์เนสทีน เลเคคี

    แคเมอรูน นักรณรงค์เคลื่อนไหวด้านภูมิอากาศ

    เธอใช้การเลี้ยงผึ้งเป็นกลยุทธ์ในการควบคุมไฟป่า เซวิดเซม เออร์เนสทีน เลเคคี ได้ก่อตั้งองค์กรที่ฝึกอบรมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งกว่า 2,000 คน ได้มีความรู้ในการผลิตน้ำผึ้ง การควบคุมคุณภาพ รวมทั้งการสกัดขี้ผึ้ง โดยมีแผนจะปลูก “ต้นไม้รักผึ้ง” ถึงกว่า 86,000 ต้น เพื่อต่อต้านการตัดไม้ทำลายป่า

    เลเคคีเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งองค์กรเฝ้าระวังประเด็นทางเพศและสิ่งแวดล้อมของแคเมอรูน (CAMGEW) ซึ่งช่วยหาทางออกให้กับปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศ โดยใช้มุมมองที่คำนึงถึงประเด็นทางเพศเข้ามาร่วมด้วย ในฐานะนักรณรงค์เคลื่อนไหวด้านภูมิอากาศ งานของเธอมุ่งไปที่การเสริมสร้างพลังความแข็งแกร่งให้กับสตรี รวมทั้งเปิดให้พวกเธอมีส่วนร่วมบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ

    เธอเชื่อว่าป่าไม้ ซึ่งรวมถึงพื้นที่ป่า 200 ตารางกิโลเมตรในภูมิภาค Kilum-Ijim จะได้รับการอนุรักษ์เอาไว้ได้ด้วยความพยายามร่วมกันของทั้งชุมชน

    *ฉันต้องการโลกที่สิทธิทางเศรษฐกิจและสังคมรวมทั้งสิทธิในระบบนิเวศของผู้หญิง ได้รับการคำนึงถึงอย่างเต็มที่ พวกเธอมีสิทธิในการทำงานอนุรักษ์ป่าและก่อตั้งความริเริ่มต่าง ๆ เกี่ยวกับการดำรงชีวิต

  • เอลีซา ลอนกอน อันติเลโอ

    ชิลี ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ

    เธอได้รับเลือกตั้งให้เป็น 1 ใน 17 ผู้แทนชนพื้นเมือง เพื่อเข้าร่วมร่างรัฐธรรมนูญใหม่ของชิลี เอลีซา ลอนกอน อันติเลโอ เดิมเป็นนักภาษาศาสตร์ อาจารย์ และนักวิชาการ แต่ขณะนี้เธอเป็นประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ชนพื้นเมืองของชิลีได้ดำรงตำแหน่งสูงในภาครัฐ ในฐานะผู้แทนจากดินแดนแห่งชาติพันธุ์ของพวกเขา

    ลอนกอนเป็นชนพื้นเมืองเผ่ามาปูเช ซึ่งมีประชากรมากที่สุดในบรรดาชนพื้นเมืองของชิลี เธอรณรงค์ให้มีการจัดตั้ง “รัฐที่ประกอบไปด้วยหลายประเทศชาติ” โดยจะให้สิทธิในการปกครองตนเองและสิทธิอื่น ๆ แก่ชุมชนชาวพื้นเมือง รวมทั้งให้การยอมรับภาษาและวัฒนธรรมของพวกเขาอย่างเป็นทางการ

    แม้จะเติบโตมาโดยมีฐานะยากจนและต้องเผชิญกับการเหยียดชาติพันธุ์ แต่เธอก็สามารถสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านมนุษยศาสตร์ และปัจจุบันเป็นอาจารย์ผู้สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยซานเตียโก

    *หลังจากได้เห็นความตายทุกวี่วันระหว่างเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ มันจำเป็นที่จะต้องรับประกันสิทธิเท่าเทียมให้กับมนุษย์และสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ ชีวิตของเราขึ้นอยู่กับทรัพยากรที่ได้จากพระแม่ธรณี ตั้งแต่น้ำและป่าไปจนถึงผึ้งและมด

  • โคล์อี โลเปซ โกเมซ

    ฝรั่งเศส นักเต้นบัลเลต์

    เธอเป็นนักเต้นผิวดำคนแรกที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมคณะบัลเลต์ Staatsballett Berlin อันทรงเกียรติ ในปี 2018 แต่การที่โคล์อี โลเปซ โกเมซ เคยเรียนการเต้นรำในสถาบันของคณะบัลเลต์บอลชอยที่กรุงมอสโกมาก่อน ทำให้ต้องพบกับการเหยียดเชื้อชาติและการเลือกปฏิบัติในวงการบัลเลต์ที่ผู้คนภายนอกต่างรังเกียจ เธอกล่าวถึงวงการบัลเลต์ว่า “ปิดแคบและมีไว้สำหรับคนชั้นสูงเท่านั้น”

    หลังจากเธอแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณชนด้วยข้อกล่าวหาดังข้างต้น นักเต้นบัลเลต์ผิวดำและศิลปินที่เป็นลูกผสมต่างเชื้อชาติ พากันออกมาให้การสนับสนุน

    โลเปซ โกเมซ เริ่มดำเนินการทางกฎหมาย หลังไม่ได้รับการต่อสัญญาจากคณะบัลเลต์ Staatsballett Berlin ในปี 2020 ทำให้ทางคณะบัลเลต์ต้องสอบสวนเป็นการภายใน ต่อกรณีข้อกล่าวหาเรื่องการเหยียดเชื้อชาติในหมู่พนักงานของตน รวมทั้งได้แถลงขออภัยและมอบค่าชดเชยแก่โลเปซ โกเมซ ในการเจรจาไกล่เกลี่ยนอกศาล

    *มันช่างโชคร้ายที่เราทุกคนไม่ได้เกิดมาเท่าเทียมกันในโลกนี้ และโอกาสสู่ความสำเร็จก็ยังขึ้นอยู่กับเชื้อชาติและสถานะทางสังคมอีกด้วย ฉันต้องการจะอยู่ในโลกที่ทุกคนมีโอกาสเอื้อมถึงสิ่งที่พวกเขาสามารถจะเป็นได้อย่างเต็มที่

  • มาเฮรา

    อัฟกานิสถาน แพทย์หญิง

    แพทย์หญิงมาเฮรายังคงยุ่งวุ่นวายอยู่กับการตรวจคนไข้ ในโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านสูตินรีเวชที่เธอทำงานอยู่

    แต่ตอนนี้เธอต้องเดินทางไปยังพื้นที่อื่น ซึ่งบริการทางการแพทย์ที่นั่นได้หยุดชะงักลง นับแต่กลุ่มตาลีบันเข้ายึดอำนาจเป็นต้นมา โดยเธอต้องไปให้บริการดูแลสุขภาพถึงแนวหน้า และให้คำแนะนำกับคนไข้เท่าที่มีความจำเป็น

    เธอเคยรักษาเหยื่อผู้เผชิญความรุนแรงทางเพศ แต่ก็ต้องหยุดทำงานนี้ไปเพราะตาลีบันเช่นกัน

    *แม้ความหวังจะริบหรี่ลงอีกในตอนนี้ แต่ผู้หญิงอัฟกันไม่ใช่คนเดียวกับที่พวกเธอเป็นเมื่อ 20 ปีก่อนอีกแล้ว ตอนนี้พวกเธอรู้จักต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิของตนเองได้ในระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่ฉันเป็นห่วงมากก็คือ โรงเรียนยังคงปิดตายสำหรับเด็กผู้หญิงไปตลอดกาล

  • มารัล

    อัฟกานิสถาน นักรณรงค์

    ครอบครัวของมารัลไม่ต้องการให้เธอมีส่วนร่วมในกิจกรรมเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรี หรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับองค์กรภาคประชาสังคมใด ๆ ทั้งสิ้น พวกเขาคิดว่าเธอเป็นผู้หญิง จึงไม่ควรจะต้องออกไปทำงาน แต่ในท้ายที่สุดเธอก็ทำมันอยู่ดี

    ตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมา มารัลพยายามชักชวนให้เหล่าผู้หญิงในท้องถิ่นเข้ามาร่วมกับเธอ โดยสนับสนุนให้เรียนรู้เกี่ยวกับสิทธิของตนเอง ออกไปทำงานนอกบ้าน และแสวงหาอิสระทางการเงิน

    เธอยังทำงานกับผู้หญิงในชนบทที่ประสบเหตุความรุนแรงภายในครอบครัว โดยช่วยจัดหาที่พักพิงและพยายามให้การสนับสนุนจนได้รับความเป็นธรรม

    *ฉันคิดว่าเราสูญเสียทุกสิ่งและรู้สึกสิ้นหวัง แต่เมื่อนึกถึงสิ่งต่าง ๆ ที่ได้ทำลงไป ฉันรู้สึกว่าความกล้าที่จะเดินหน้าต่อได้หวนกลับคืนมา ฉันจะไม่ยอมแพ้ อนาคตเป็นของคนที่ต้องการสันติและมนุษยชาติ

  • มาซูมา

    อัฟกานิสถาน อัยการ

    ในฐานะอัยการหญิงของอัฟกานิสถาน มาซูมาทำงานในฝ่ายตุลาการ รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อทำคำฟ้องคดีต่าง ๆ นิติศาสตร์บัณฑิตผู้นี้คือหนึ่งในหญิงรุ่นใหม่จำนวนมากที่ได้รับการศึกษาในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เธอภูมิใจที่ได้ทำงานรับใช้ประชาชนมากว่า 5 ปี ที่สำนักงานอัยการสูงสุด

    เมื่อตาลีบันเข้าควบคุมอัฟกานิสถานสำเร็จ มีการสั่งปล่อยตัวนักโทษจากเรือนจำ ซึ่งในจำนวนนี้ไม่น้อยเป็นอาชญากรใจโหดและยังมีกลุ่มนักรบอิสลามปะปนอยู่ด้วย กลุ่มสิทธิระหว่างประเทศรายงานว่า มีการวิสามัญฆาตกรรมและการลักพาตัวเกิดขึ้น แม้ตาลีบันจะได้ให้นิรโทษกรรมแก่บรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐแล้วก็ตาม

    ขณะนี้มาซูมาหลบซ่อนตัวอยู่ และยังไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร

    *ผู้หญิงและเด็กหญิงนั้นมีกันอยู่มากถึงครึ่งหนึ่งของประชากรโลก ถ้าเราให้โอกาสแก่พวกเธอ ผู้หญิงจะสามารถรับใช้ประชาชนและประเทศชาติได้เหมือนกับผู้ชาย

  • เฟียเม นาโอมิ มาตาอาฟา

    ซามัว นายกรัฐมนตรี

    นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของซามัวและผู้นำพรรค FAST เฟียเม นาโอมิ มาตาอาฟา เริ่มลงเล่นการเมืองเมื่อมีอายุได้ 27 ปี โดยเคยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคม ชุมชน และสตรี รวมทั้งเป็นรัฐมนตรียุติธรรมในเวลาต่อมา

    เธอยังเป็นหัวหน้าเผ่าหญิงระดับสูง (มาไต) คนสำคัญ และเป็นแรงบันดาลใจให้สตรีชาวซามัวที่ใฝ่ฝันจะได้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

    นโยบายของเธอมุ่งไปที่เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก เพื่อต่อสู้กับภาวะฉุกเฉินทางภูมิอากาศในฐานะประเทศหนึ่งของภูมิภาคที่เสี่ยงภัยจากภาวะโลกร้อนมากที่สุดของโลก

    *ที่ใดมีความสามัคคี ที่นั่นมีความหวังสำหรับคนรุ่นใหม่ในอนาคต

  • ซาลิมา มาซารี

    อิหร่าน นักการเมืองและอดีตผู้ว่าการเขต

    เธอคือหนึ่งในผู้ว่าการเขตหญิงสามคนของอัฟกานิสถาน ซาลิมา มาซารี กลายเป็นคนดังในพาดหัวข่าวของสื่อหลายเจ้าในปีนี้ หลังเธอนำกองทหารอาสาสมัครที่ฝักใฝ่รัฐบาลออกสู้รบกับตาลีบันอย่างกล้าหาญ

    มาซารีใช้ช่วงเวลาที่เป็นผู้ลี้ภัยอยู่ในประเทศอิหร่านศึกษาต่อจนสามารถคว้าใบปริญญามาได้สำเร็จ เมื่อกลับมายังอัฟกานิสถานในปี 2018 เธอได้รั้งตำแหน่งผู้ว่าการเขต Charkint ในจังหวัด Balkh ซึ่งเป็นถิ่นที่เธอเข้าไปเจรจาให้กองกำลังตาลีบันกว่า 100 คน ยอมมอบตัว เขตของเธอนับเป็นแนวต้านตาลีบันที่สำคัญในช่วงต้นปี 2021 โดยก่อนที่กรุงคาบูลจะแตก เขตของเธอเป็นจุดยุทธศาสตร์เพียงหนึ่งในไม่กี่แห่งที่ไม่เคยถูกยึดครอง

    ผู้คนคาดกันว่าเธอน่าจะถูกตาลีบันจับตัวได้ แต่ในที่สุดปรากฏว่าเธอหนีเล็ดลอดไปยังสหรัฐอเมริกาได้สำเร็จ โดยในตอนนี้เธอกำลังรอการจัดสรรเพื่อลงหลักปักฐานในสถานที่แห่งใหม่อยู่

    *ฉันหวังว่าจะมีวันนั้น วันที่การเป็นผู้หญิงรวมทั้งการมีเชื้อสายชนกลุ่มน้อยชาวฮาซารา การนับถือนิกายชีอะห์และพูดภาษาเปอร์เซีย ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ทั้งหมดของฉัน จะไม่ถูกมองว่าเป็นอาชญากรรมในประเทศบ้านเกิดของตนเอง

  • เดเพลชา โทมัส แม็กกรูเดอร์

    สหรัฐอเมริกา ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Mom of Black Boys United

    แนวร่วมของเธอเป็นการรวมตัวกันระหว่าง “แม่ผู้ห่วงกังวล” ของบรรดาเด็กชายผิวดำจากทั่วสหรัฐฯ เดเพลชา โทมัส แม็กกรูเดอร์เป็นทั้งผู้ก่อตั้งและประธานกลุ่ม “แม่เด็กชายผิวดำ” (MOBB) และกลุ่มแม่เด็กชายผิวดำเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม ซึ่งมุ่งแก้ไขนโยบายและมุมมองที่ส่งผลกระทบต่อผู้ชายและเด็กชายผิวดำ เมื่อพวกเขาถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมจากผู้บังคับใช้กฎหมายและจากสังคมโดยรวม

    ปัจจุบันเธอเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการและเหรัญญิกของมูลนิธิ Ford Foundation ซึ่งดูแลการดำเนินงานต่าง ๆ ทั่วโลก รวมทั้งการเงินของมูลนิธิ

    ก่อนหน้านี้แม็กกรูเดอร์ใช้เวลานานถึง 20 ปี ในเส้นทางธุรกิจสื่อและบันเทิง โดยเป็นผู้สื่อข่าวโทรทัศน์และเคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าระดับอาวุโสที่ช่อง MTV และ BET ซึ่งเป็นช่องรายการบันเทิงสำหรับคนผิวดำ

    *ความหวังของฉันก็คือ ผู้คนในโลกหลังการระบาดใหญ่สิ้นสุดลงจะมีเมตตากรุณาต่อกันมากขึ้น ผู้คนจะตระหนักว่าเราต่างต้องพึ่งพาอาศัยกันและกันมากเพียงไร รวมทั้งรู้สึกอ่อนไหวต่อความทุกข์ยากของผู้อื่นและอุปสรรคเฉพาะกลุ่มของพวกเขาเหล่านั้นมากยิ่งขึ้น

  • มูลู เมฟซิน

    เอธิโอเปีย พยาบาล

    เธอเป็นพยาบาลมานานกว่า 10 ปี ปัจจุบัน มูลู เมฟซิน ทำงานที่ศูนย์ One Stop Service ในเมืองเมเคลเล เมืองหลวงของภูมิภาคทิเกรย์ที่ยังมีการสู้รบ ศูนย์แห่งนี้ให้บริการทางการแพทย์ จิตวิทยา และกฎหมาย แก่เหยื่อความรุนแรงและการทำร้ายละเมิดทางเพศ

    เมื่อสามปีที่แล้วเมฟซินเริ่มรณรงค์เพื่อยุติความรุนแรงต่อเด็กสาวและผู้หญิงในภูมิภาคทิเกรย์ ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์ยิ่งทวีความตึงเครียด หลังสงครามกลางเมืองที่ดำเนินอยู่ได้ปะทุขึ้นเมื่อปลายปี 2020

    แม้ตัวเธอเองต้องทนทรมานจากบาดแผลของความรุนแรงเช่นกัน แต่เมฟซินต้องการจะเดินหน้าทำงานต่อไป โดยหวังว่าสักวันสันติภาพจะหวนกลับคืนมา

    *ฉันต้องการให้โลกได้เริ่มต้นใหม่เพื่อยุติทุกความขัดแย้ง เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ สร้างสันติภาพแทนการเจรจาค้าอาวุธ และเพื่อให้มีการบังคับใช้กฎหมายลงโทษพวกชอบข่มขืน รวมทั้งพวกทำร้ายเด็กสาวและผู้หญิง

  • โมฮาเดเซ มีร์ซาอี

    อัฟกานิสถาน นักบิน

    นักบินหญิงประจำสายการบินพาณิชย์คนแรกของอัฟกานิสถาน โมฮาเดเซ มีร์ซาอี รับหน้าที่ควบคุมเครื่องบินโบอิง 737 ของสายการบิน Kam Air ในเที่ยวบินประวัติศาสตร์เที่ยวแรกที่มีลูกเรือเป็นหญิงทั้งหมด โดยเธอเริ่มทำงานเป็นนักบินพาณิชย์เมื่อเดือนกันยายน ปี 2020

    เมื่อกองกำลังตาลีบันบุกเข้าสู่กรุงคาบูลนั้น มีร์ซาอีกำลังอยู่ที่สนามบิน เพื่อเตรียมความพร้อมให้เที่ยวบินที่ไม่มีวันได้ออกเดินทาง ในท้ายที่สุดแล้วเธอกลับต้องขึ้นเครื่องบินในฐานะผู้โดยสารและเดินทางออกจากประเทศไป มีร์ซาอีบอกว่าเธอยืนหยัดเพื่อความเท่าเทียม ในสังคมที่หญิงและชายสามารถทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กันได้

    เธอหวังว่าจะได้ขึ้นบินอีกครั้ง

    *อย่ามัวแต่รอ ! ไม่มีใครจะมาหาและติดปีกให้คุณหรอก หากเราไม่ยืนหยัดมั่นคงด้วยตัวเอง ฉันต่อสู้เพื่อสิ่งที่เป็นของฉัน และคุณก็ต้องสู้เพื่อตัวคุณ เมื่อเราร่วมมือกันจะไม่มีใครหยุดยั้งเราได้

  • ฟาฮีมา มีร์ซาอี

    อัฟกานิสถาน นักเต้นระบำหมุนเดอร์วิช

    นักเต้นระบำหมุนเดอร์วิชหญิงคนแรกและคนเดียวของอัฟกานิสถาน ฟาฮีมา มีร์ซาอี แสดงการเต้นที่เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมในนิกายซูฟีของศาสนาอิสลาม รวมทั้งก่อตั้งคณะนักเต้นและศิลปะการแสดงที่มีทั้งสมาชิกชายและหญิง ภายใต้ชื่อองค์กรวัฒนธรรมและรหัสยลัทธิ Shohood โดยชื่อนี้หมายถึงการหยั่งรู้ของผู้มีอำนาจจิตเร้นลับ

    เธอมองว่าการเต้นเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยสร้างพื้นที่ให้กับตัวเธอในสังคมหัวเก่าเคร่งศาสนา ซึ่งการทำกิจกรรมปะปนกันระหว่างหญิงชายนั้นยังคงเป็นเรื่องต้องห้าม เธอหวังว่าการตระเวนจัดกิจกรรมการแสดงทั่วประเทศ จะช่วยให้ส่งเสริมให้สังคมอัฟกานิสถานมีขันติธรรมมากขึ้นได้

    ในปีนี้เธอจำต้องหนีกลุ่มตาลีบันออกนอกประเทศ เนื่องจากการเต้นระบำหมุนเดอร์วิชนั้น ถือว่าเป็นการกระทำนอกรีตและผิดกฎหมายอิสลามตามการตัดสินของตาลีบัน

    *ฉันเชื่อในการให้ความสำคัญกับเรื่องของจิตวิญญาณเป็นอันดับแรก เราต้องพยายามค้นหาสันติสุขภายในตัวเรา และจากนั้นความสงบภายในจะแผ่กว้างออกไปครอบคลุมโลกทั้งใบได้

  • ตลาเล็ง โมโฟเก็ง

    แอฟริกาใต้ ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติเรื่องสิทธิด้านสุขภาพ

    เธอเป็นที่ชื่นชมรักใคร่และรู้จักกันในชื่อ “ด็อกเตอร์ T” โดยเป็นทั้งแพทย์หญิงและนักเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี ในประเด็นสิทธิของผู้หญิงต่อการมีสุขภาพทางเพศและการเจริญพันธุ์ที่ดี เธอยังอุทิศตนเพื่อการเข้าถึงบริการทางสุขภาพโดยถ้วนหน้า การดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี และบริการวางแผนครอบครัวด้วย

    ปัจจุบันแพทย์หญิงตลาเล็ง โมโฟเก็ง เป็นผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติในประเด็นสิทธิด้านสุขภาพกายและจิต โดยเธอเป็นทั้งผู้หญิงและชาวแอฟริกันคนแรก รวมทั้งเป็นหนึ่งในผู้อายุน้อยที่สุด ที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนี้ เธอยังเป็นผู้เขียนหนังสือขายดีอันดับหนึ่ง “ด็อกเตอร์ T: คู่มือเพื่อสุขภาพทางเพศและความสำราญ”

    แพทย์หญิงโมโฟเก็งยังเป็นผู้ได้รับรางวัล “120 หนุ่มสาววัยต่ำกว่า 40” ซึ่งมอบให้นักกิจกรรมรุ่นเยาว์ที่รณรงค์เพื่อการวางแผนครอบครัว เมื่อปี 2016 จากสถาบันบิลล์และเมลินดา เกตส์ เพื่อสุขภาพประชากรและการเจริญพันธุ์

    *ฉันอยากให้โลกปรับเปลี่ยนใหม่ยังไงน่ะหรือ ? ช่วยดูแลตัวเองด้วยความรักที่มีต่อชุมชนก็แล้วกัน

  • ทันยา มูซินดา

    ซิมบับเว นักแข่งรถจักรยานยนต์โมโตครอส

    เมื่อเธอตัดสินใจเข้าสู่โลกแห่งการแข่งขันโมโตครอส หรือวงการแข่งรถจักรยานยนต์วิบากที่ผู้ชายครองความเป็นใหญ่ ทันยา มูซินดา ก็ได้กลายเป็นแชมป์ออฟโรดเซอร์กิตหญิงคนแรกของประเทศ โดยเป็นผู้หญิงซิมบับเวที่คว้าแชมป์โมโตครอสเป็นคนแรก นับแต่เริ่มมีการแข่งขันเมื่อปี 1957

    เธอได้รับแรงบันดาลใจจากพ่อที่เคยเป็นนักแข่งรถจักรยานยนต์เช่นกัน มูซินดาเริ่มฝึกฝนตั้งแต่อายุ 5 ขวบ มาจนถึงขณะนี้ที่เธอมีอายุได้ 17 ปี เธอตั้งความหวังไว้ว่าจะเป็นชาวแอฟริกันผิวดำคนแรกที่คว้าตำแหน่งแชมป์โลกโมโตครอสหญิง โดยเมื่อปี 2018 สหภาพแอฟริกาได้ยกย่องให้เธอเป็นนักกีฬาเยาวชนหญิงแห่งปี

    ด้วยรายได้จากการแข่งโมโตครอสของเธอ มูซินดาบริจาคเงินให้การกุศลหลายงาน เช่นมอบทุนการศึกษาให้นักเรียน 100 คน เพื่อไปเข้าเรียนที่สถาบันการศึกษาหลายแห่งในกรุงฮาราเร

    *ฉันไม่ต้องการเปลี่ยนโลกให้เริ่มต้นใหม่ เพราะโลกไม่เคยสมบูรณ์แบบอยู่แล้ว เมื่อมีดีก็ต้องมีเลวอยู่ด้วยเสมอ เรามาแก้ไขปัจจุบันกันดีกว่า เพื่อที่คนรุ่นต่อไปจะได้ไม่ต้องต่อสู้เรียกร้องในสิ่งที่เราได้เคยสู้กับมันมาแล้ว

  • ชิมามันดา โกซี อาดิชี

    ไนจีเรีย นักเขียน

    นักเขียนชาวไนจีเรียชื่อดัง และสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อแนวคิดสตรีนิยมหรือเฟมินิสต์ งานเขียนของชิมามันดา โกซี อาดิชี ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศถึงกว่า 30 ภาษา เธอย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่สหรัฐฯ เมื่ออายุได้ 19 ปี และเข้าเรียนต่อในระดับปริญญาตรีด้านการสื่อสารและการเมือง

    “ชบาสีม่วง” (Purple Hibiscus) นวนิยายเรื่องแรกของเธอซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 2003 ได้รับรางวัลนักเขียนเครือจักรภพ และต่อมาในปี 2013 นวนิยายเรื่อง Americanah ได้รับการเสนอชื่อเป็นหนึ่งในสุดยอดหนังสือดี 10 เล่ม ของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์

    การบรรยายที่โดดเด่นของอาดิชีบนเวที TEDTalk เมื่อปี 2012 ในหัวข้อ “เราทุกคนควรเป็นเฟมินิสต์” จุดประกายการอภิปรายถกเถียงเรื่องแนวคิดสตรีนิยมไปทั่วโลก จนได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือในปี 2014 ไม่นานมานี้เธอเพิ่งออกหนังสือ “บันทึกว่าด้วยความโศกเศร้า” ซึ่งอุทิศเป็นการส่วนตัวให้กับพ่อของเธอที่จากไปอย่างกะทันหัน

    *ลองใช้ชั่วขณะนี้เป็นจุดเริ่มต้น โดยคิดถึงบริการดูแลสุขภาพในฐานะสิทธิที่มนุษย์ทุกแห่งหนบนโลกพึงมี มันเป็นสิ่งที่บุคคลสมควรจะได้รับเพียงเพราะเขายังมีชีวิตอยู่ ไม่ใช่สิทธิที่พึงได้ต่อเมื่อมีเงินซื้อหาเท่านั้น

  • ลินน์ กูกิ

    เคนยา ผู้สื่อข่าว

    ผู้สื่อข่าวและผู้ผลิตคอนเทนต์มือรางวัล ลินน์ กูกิ เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายด้วยผลงานทางช่องข่าวดิจิทัล TUKO ของเธอ ซึ่งนำเสนอเรื่องราวหลากหลายที่น่าสนใจและเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนจำนวนมาก

    เธอเริ่มทำงานเป็นอาสาสมัครดูแลผู้ป่วยมะเร็งก่อน จากนั้นในปี 2011 ได้เข้าสู่วงการสื่อสารมวลชนกับบริษัทภาพยนตร์ Kiwo Films และมูลนิธิ Qatar Foundation กูกิยังได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ทรงอิทธิพลหรือ “อินฟลูเอนเซอร์” ในสื่อสังคมออนไลน์ และเป็นคนดังผู้หนึ่งในวงการสื่อของไนจีเรีย

    เธอได้รับรางวัลผู้สื่อข่าวด้านมนุษยธรรมแห่งปี เมื่อปี 2020 และในปีนี้ได้รับรางวัลทูตประจำชุมชนขององค์กรระดับโลก I Change Nations อีกด้วย

    *ฉันต้องการให้โลกเปลี่ยนแปลงไปเป็นสถานที่ซึ่งทุกคนรู้สึกปลอดภัย

  • อะแมนดา เหวียน

    สหรัฐอเมริกา นักธุรกิจเพื่อสังคม

    เธอคือประธานผู้บริหารของ Rise องค์กรปกป้องสิทธิเหยื่อที่ผ่านการถูกข่มขืนและทำร้ายทางเพศ

    นักรณรงค์เคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมืองและนักธุรกิจเพื่อสังคม อะแมนดา เอ็น. เหวียน ก่อตั้งองค์กร Rise ขึ้นหลังเธอถูกข่มขืนขณะศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเมื่อปี 2013 ในเหตุการณ์ครั้งนั้น ตำรวจบอกว่าเธอมีเวลาเพียง 6 เดือนในการตัดสินใจเข้าแจ้งความดำเนินคดีต่ออาชญากร มิฉะนั้นหลักฐานทั้งหมดจะต้องถูกทำลาย ด้วยเหตุนี้เธอจึงลงมือผลักดันร่างกฎหมายสิทธิของผู้ผ่านการถูกทำร้ายทางเพศ ซึ่งปกป้องสิทธิของเหยื่อการข่มขืนที่จะเก็บรักษาหลักฐานเอาไว้

    ในปี 2021 นี้ วิดีโอที่เธอกล่าวถึงอาชญากรรมจากความเกลียดชังซึ่งมุ่งเป้าต่อต้านคนเอเชีย ได้กลายเป็นกระแสที่ผู้คนส่งต่อกันไปอย่างกว้างขวาง ทำให้เป็นโอกาสเหมาะที่ขบวนการ “หยุดเกลียดคนเอเชีย” (Stop Asian Hate) ได้ถือกำเนิดขึ้นมา

    *ไม่มีใครไร้พลังอำนาจหากเรารวมตัวกัน ไม่มีใครถูกมองข้าม ถ้าเราเรียกร้องที่จะให้ผู้คนมองเห็น

  • บาสิรา ไพกัม

    อัฟกานิสถาน นักรณรงค์เรื่องเพศและชนกลุ่มน้อย

    การต่อสู้เพื่อสิทธิของกลุ่ม LGBTQ+ ในอัฟกานิสถานนั้นเต็มไปด้วยอุปสรรค แต่แม้มันจะท้าทายเพียงใดก็ตาม บาสิรา ไพกัม ยังคงยืนหยัดทำหน้าที่ผู้รณรงค์เพื่อความเสมอภาคทางเพศ รวมทั้งต่อสู้เรื่องเพศสภาพในชนกลุ่มน้อย ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมาเสมอ

    เธอจัดอบรมสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องเพศสภาพและเพศวิถี ทั้งยังร่วมกับเพื่อนให้คำแนะนำและความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ตกเป็นเหยื่อการล่วงละเมิด เพื่อให้พวกเขาได้เข้ารับการรักษาทางการแพทย์ นอกจากนี้ยังมีบริการช่วยเหลือให้ได้รับการบำบัดจิต สำหรับชาว LGBTQ+ ที่มีแนวโน้มฆ่าตัวตายอีกด้วย

    ขณะนี้ไพกัมพำนักอาศัยอยู่ในประเทศไอร์แลนด์ เธอยังคงรณรงค์เพื่อการยอมรับชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศในอัฟกานิสถานต่อไป รวมทั้งเรียกร้องการยอมรับสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพของพวกเขาด้วย

    *ฉันหวังว่าชาวอัฟกานิสถานจะสามารถหายใจได้อย่างอิสรเสรี โดยไม่ต้องคิดถึงเรื่องศาสนา เพศสภาพ หรือเพศวิถี เราจะไม่ยอมปิดปากเงียบ และด้วยความพยายามอย่างสุดกำลัง เราจะประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนทัศนคติของใครหลายคน

  • นาตาเลีย ปาสเตอร์นัก แทชเนอร์

    บราซิล นักจุลชีววิทยาและนักสื่อสารวิทยาศาสตร์

    เธอคือผู้นำข้อมูลข่าวสารสำคัญทางวิทยาศาสตร์ที่จะช่วยชีวิตผู้คนจำนวนมาก มาเผยแพร่ให้กับชาวบราซิลหลายล้านคนระหว่างการระบาดของโรคโควิด-19 ผ่านการเขียนคอลัมน์และออกปรากฏตัวทางรายการวิทยุและโทรทัศน์

    นาตาเลีย ปาสเตอร์นัก เป็นนักเขียนเรื่องวิทยาศาสตร์และนักจุลชีววิทยา เธอสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านพันธุศาสตร์ของแบคทีเรียจากมหาวิทยาลัยเซาเปาลู ผลงานคุณภาพเยี่ยมของเธอทำให้ได้รับเชิญไปยังมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในนครนิวยอร์ก โดยผู้เชิญคือนักประสาทวิทยาศาสตร์และนักเขียนเรื่องวิทยาศาสตร์ชื่อก้องโลก สจวร์ต ไฟร์สไตน์

    เธอยังเป็นผู้ก่อตั้งและประธานคนปัจจุบันของ “สถาบันคำถามแห่งวิทยาศาสตร์” องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ทุ่มเทเพื่อส่งเสริมการใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในการกำหนดนโยบายสาธารณะ

    *ในฐานะหลานสาวของผู้ผ่านเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว ฉันรู้ว่ารัฐบาลเผด็จการจะทำอะไรกับประชาชนได้บ้าง การเป็นกระบอกเสียงให้กับวิทยาศาสตร์ในบราซิล ในยามที่เกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ ถือเป็นการบำเพ็ญประโยชน์ของฉันเพื่อเก็บรักษา “สิ่งที่ต้องไม่ลืม” ให้ยังคงมีชีวิตอยู่ต่อไป

  • โมนิกา พอลัส

    ปาปัวนิวกินี นักรณรงค์ต่อต้านความรุนแรงที่เกี่ยวกับเวทมนตร์

    เพื่อช่วยเหลือเหยื่อผู้ถูกกล่าวหาว่าใช้เวทมนตร์และเหยื่อความรุนแรงอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง (SARV) นักสิทธิมนุษยชน โมนิกา พอลัส ได้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายพิทักษ์สิทธิมนุษยชนของผู้หญิงบนพื้นที่สูง ซึ่งองค์กรนี้จะให้ที่พักพิงและคำแนะนำทางกฎหมายแก่หญิงผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มด รวมทั้งรายงานกรณีเหล่านี้ต่อสหประชาชาติและองค์กรระหว่างประเทศอื่น ๆ อีกด้วย

    ความพยายามนี้ ทำให้รัฐบาลปาปัวนิวกินีต้องจัดตั้งคณะกรรมการสอดส่องการใช้ความรุนแรงที่เกี่ยวกับเวทมนตร์ขึ้นมา

    เมื่อปี 2015 พอลัสได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งใน “หญิงผู้ประสบความสำเร็จ” ขององค์การสหประชาชาติ ทั้งได้รับรางวัลสตรีแห่งปาปัวนิวกินี สำหรับความกล้าหาญในการรณรงค์ต่อสู้ของเธอ ด้านองค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออสเตรเลีย ก็เคยระบุว่า เธอเป็นหญิงผู้กล้าหาญที่สุดคนหนึ่งของโลก

    *เราจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงใหม่ และต้องจำเอาไว้ว่าเราต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของเผ่าพันธุ์มนุษย์ ส่วนประเด็นเรื่องเพศนั้นไม่ควรจะเป็นเหตุถ่วงรั้งความเจริญก้าวหน้า หรือถูกใช้เป็นเครื่องมือต่อต้านพวกเรา

  • เรฮานา โปปาล

    อัฟกานิสถาน ทนายความ

    เธอคือผู้เชี่ยวชาญกฎหมายแพ่งและกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ปัจจุบัน เรฮานา โปปาล ทำงานช่วยเหลือล่ามชาวอัฟกันและคนอื่น ๆ ที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ขณะที่กองกำลังนาโต้ถอนตัวออกจากอัฟกานิสถาน

    โปปาลเป็นผู้หญิงอัฟกันคนแรกที่ทำงานในอังกฤษและแคว้นเวลส์ เธอเดินทางมาสหราชอาณาจักรในฐานะผู้ลี้ภัยเด็กเมื่อมีอายุได้เพียง 5 ขวบ เธอศึกษาการเมืองระหว่างประเทศและกฎหมาย ก่อนจะมาเป็นทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนในทุกวันนี้

    เมื่อปี 2019 เธอได้รับการเสนอชื่อให้เป็นทนายความแห่งปี ที่งานมอบรางวัลสตรีผู้เป็นแรงบันดาลใจในแวดวงกฎหมาย

    *ฉันหวังว่าในอนาคต ผู้หญิงและเด็กหญิงในอัฟกานิสถานจะมีเสรีภาพในการได้รับการศึกษา ได้รับการจ้างงาน และมีชีวิตอยู่โดยปราศจากความหวาดกลัว

  • มานจูลา ประทีป

    อินเดีย นักรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน

    เธอคือทนายความและนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนของกลุ่มคนผู้ด้อยโอกาสที่สุดในอินเดีย มานจูลา ประทีป เกิดในครอบครัวฑลิต (Dalit) หรือคนจัณฑาลจากรัฐคุชราต ก่อนจะเป็นที่รู้จักด้วยผลงานรณรงค์ต่อต้านการเหยียดเพศและวรรณะ เธอรับหน้าที่ผู้อำนวยการกองทุน Navsarjan Trust ซึ่งเป็นองค์กรเพื่อสิทธิของคนจัณฑาลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ

    ในปีนี้เธอร่วมก่อตั้งสภาผู้นำสตรีแห่งชาติ ทั้งยังก่อตั้งองค์กรที่เสริมสร้างพลังความแข็งแกร่งให้กับกลุ่มเยาวชนนอกวรรณะผู้ถูกกดขี่ ภายใต้ชื่อว่า Wise Act of Youth Visioning and Engagement อีกด้วย

    เธอยังเป็นสมาชิกของเครือข่ายรวมพลังคนฑลิตนานาชาติ ซึ่งเน้นการนำเสนอสิทธิของพวกเขา ในที่ประชุมระดับโลกของสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านแนวคิดเหยียดเชื้อชาติ

    *ฉันต้องการให้โลกถูกปรับเปลี่ยนเสียใหม่ โดยให้มีความเมตตาและความรัก เป็นโลกที่ผู้หญิงจากชุมชนด้อยโอกาสจะสามารถเป็นผู้นำทาง เพื่อไปสู่สังคมที่สงบสันติและมีความเป็นธรรม

  • ราซมา

    อัฟกานิสถาน นักดนตรี

    เธอคือนักดนตรีชาวอัฟกันผู้ประสบความสำเร็จอย่างสูงคนหนึ่ง ราซมาเกิดในครอบครัวนักดนตรีและสำเร็จการศึกษาด้านการดนตรีและศิลปะโดยตรง เธอยังเล่นเครื่องคนตรีที่ปกติแล้วสงวนไว้ให้เฉพาะนักดนตรีชายเท่านั้น ที่ผ่านมาเธอมีโอกาสได้เล่นดนตรีร่วมกับบุคคลสำคัญในวงการทั้งในประเทศและต่างประเทศ

    เธอบอกว่าอยากจะมีโอกาสแสดงให้โลกเห็นอีกด้านของอัฟกานิสถานผ่านดนตรีของเธอ แต่แทนที่จะเป็นดังหวัง ปีนี้กลับเป็นปีอันมืดมนที่สุดของผู้หญิงอัฟกัน ในฐานะนักดนตรีที่ไม่สามารถร้องหรือบรรเลงเพลงร่วมกับผู้อื่นได้อีกแล้ว มันเป็นเรื่องของการสูญเสียอย่างใหญ่หลวง

    ดนตรีเคยเป็นสิ่งต้องห้ามในยุคแรกของระบอบการปกครองภายใต้ตาลีบัน ระหว่างปี 1996-2001 ราซมาเกรงว่าประวัติศาสตร์จะเดินซ้ำรอยเดิมกับวงการดนตรีของอัฟกานิสถานอีกครั้ง

    *เมื่อลองจินตนาการถึงสังคมที่ไม่มีเพลงไม่มีดนตรี มันทำให้ฉันหดหู่เสียยิ่งกว่าครั้งไหน ๆ ฉันหวังว่าเสียงที่ยังนิ่งเงียบอยู่ของผู้หญิงอัฟกันเรา จะแปรเปลี่ยนเป็นเสียงร้องตะโกนในการประท้วงได้

  • โรหิลา

    ิอัฟกานิสถาน นักเรียนหญิง

    โรหิลาเป็นนักเรียนหญิงที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งห้ามเด็กหญิงเข้าเรียนในชั้นมัธยมศึกษา ซึ่งคำสั่งนี้มีขึ้นหลังตาลีบันหวนคืนสู่อำนาจ วิชาที่เธอโปรดปรานคือวิทยาศาสตร์และภาษาอังกฤษ และเธอคิดถึงการได้วิ่งไปโรงเรียนพร้อมกับบรรดาพี่ชายน้องชายในตอนเช้า

    โรหิลาบอกว่ามีเพื่อนในกลุ่มเพียงไม่กี่คนที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ส่วนตัวเธอเองนั้นรู้สึกว่าเรียนทางไกลโดยไม่มีครูสอนได้อย่างยากลำบาก

    ความฝันของเธอคือการได้เรียนทางด้านจิตวิทยา รวมทั้งได้ทุนการศึกษาไปเรียนต่อในต่างประเทศ

    *ตอนนี้อัฟกานิสถานตัดขาดจากโลกภายนอก ความหวังของฉันที่จะได้เรียนต่อคงกลายเป็นฝันลม ๆ แล้ง ๆ ฉันหวังว่าประชาคมนานาชาติจะไม่ลืมเรา และช่วงเวลาหลายปีที่ทำงานหนักกันมาจะไม่สูญเปล่า

  • อัลบา รููเอดา

    อาร์เจนตินา นักรณรงค์เพื่อคนข้ามเพศ

    เธอคือคนข้ามเพศคนแรกที่ดำรงตำแหน่งระดับสูงในรัฐบาล ปัจจุบัน อัลบา รูเอดา เป็นปลัดกระทรวงด้านนโยบายความหลากหลาย ในสังกัดกระทรวงสตรี เพศ และความหลากหลายของอาร์เจนตินา

    เธอเป็นทั้งนักวิชาการและนักรณรงค์เคลื่อนไหวเพื่อคนข้ามเพศ ผู้เป็นสัญลักษณ์ของ Trans Women Argentina องค์กรที่เรียกร้องให้ออกกฎหมายสงวนตำแหน่งงานภาครัฐในโควต้า 1% แก่คนข้ามเพศและผู้แปลงเพศ ร่างกฎหมายแหวกแนวนี้ ได้รับเสียงสนับสนุนอย่างล้นหลามจากรัฐสภา และเริ่มมีผลบังคับใช้จริงเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

    เมื่อปี 2019 รูเอดายื่นฟ้องอาร์ชบิชอปหรืออัครสังฆราชนิกายคาทอลิกผู้หนึ่ง ด้วยเหตุที่ไม่ยอมแก้ไขบันทึกข้อมูลของโบสถ์ที่เกี่ยวกับตัวเธอ เพื่อให้มีชื่อและเพศสอดคล้องกับที่ปรากฏในบัตรประชาชน

    *ปี 2021 ได้แสดงให้เห็นถึงผลกระทบใหญ่หลวงจากนโยบายเศรษฐกิจ ที่มีต่อการผลิตซ้ำความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียม เราจึงควรส่งเสริมนโยบายที่มาจากมุมมองสตรีนิยมแบบครอบคลุม ซึ่งจะเปิดโอกาสให้เราได้สร้างความสัมพันธ์แบบอื่น รวมทั้งได้พัฒนาและดูแลชุมชนร่วมกัน

  • รูุกชานา

    อัฟกานิสถาน ศัลยแพทย์

    แพทย์หญิงรุกชานาเป็นศัลยแพทย์และผู้ช่วยศาสตราจารย์ เธอก่อตั้งองค์กรให้บริการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานแก่ผู้ป่วยพลัดถิ่น ซึ่งมาจากจังหวัดต่าง ๆ ของอัฟกานิสถานที่มีการสู้รบ

    เธอทำงานในสภาพแวดล้อมที่โหดร้ายระหว่างการสู้รบหลายครั้ง เพื่อให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์กับกลุ่มผู้เผชิญความเสี่ยงมากที่สุด เธอยังเป็นอาสาสมัครให้โครงการควบคุมมะเร็งแห่งชาติ ซึ่งขณะนี้กำลังรณรงค์เพื่อความตระหนักรู้เรื่องโรคมะเร็งเต้านมอยู่

    เธอหลงใหลในงานด้านศัลยกรรมที่ตนเองทำอยู่ และหวังว่าจะได้เป็นแหล่งที่มาของแรงบันดาลใจ ให้กับนักเรียนแพทย์ชาวอัฟกันอีกหลายคน

    *การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลายครั้ง เป็นผลมาจากความมุ่งมั่นและการอุทิศตนของผู้นำ ตัวฉันเองอาจไม่ได้เป็นผู้นำแต่ก็จะอยู่ในอัฟกานิสถานต่อไป เพื่อนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ระบบการดูแลสุขภาพที่ทั้งฉ้อฉลและเป็นอัมพาตของที่นี่

  • ฮาลีมา ซาดาฟ คาริมี

    อัฟกานิสถาน นักการเมืองและอดีต ส.ส.

    เธอคืออดีตฝ่ายนิติบัญญัติและสมาชิกรัฐสภาของอัฟกานิสถาน ฮาลีมา ซาดาฟ คาริมี มาจากจังหวัด Jowzjan ทางตอนเหนือของประเทศ ถือเป็นนักการเมืองผู้มีประสบการณ์ยาวนานอย่างมากผู้หนึ่ง

    เธอเป็นหนึ่งในสมาชิกรัฐสภาหญิงเกือบ 70 คน และเป็นผู้แทนหนึ่งเดียวจากชนกลุ่มน้อยชาวอุซเบ็ก ซึ่งเธอได้ต่อสู้ในรัฐสภาเพื่อสิทธิประจำชุมชนของเธอด้วยเช่นกัน ก่อนหน้านี้เธอสำเร็จการศึกษาด้านรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ และเป็นนักรณรงค์เพื่อสิทธิสตรีคนสำคัญ ซาดาฟ คาริมี เคยถูกข่มขู่จากกลุ่มตาลีบัน จนเธอต้องย้ายบ้านหนีหลายครั้ง

    เมื่อปี 2020 น้องชายของเธอซึ่งยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย ถูกกองกำลังตาลีบันสังหาร

    *กองกำลังที่เห็นแก่ตัวจะต้องล้มเหลวตั้งแต่ต้นเสมอ ฉันหวังว่าผู้หญิงชาวอัฟกันจะได้รับสิทธิสตรี ด้วยการมีส่วนร่วมทั้งทางการเมือง วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งการทำเช่นนี้จะช่วยหลีกเลี่ยงวิกฤตทางมนุษยธรรมได้

  • โรยา ซาดัต

    อัฟกานิสถาน ผู้สร้างภาพยนตร์

    ผู้กำกับหญิงคนแรกที่แจ้งเกิดจากยุคของตาลีบัน เป็นเวลากว่า 20 ปีแล้วที่ภาพยนตร์ของเธอเผยให้ผู้คนได้ยินเสียงของหญิงชาวอัฟกัน รวมทั้งวิถีชีวิตและข้อจำกัดต่าง ๆ ที่พวกเธอถูกกดขี่บังคับ

    ผลงานภาพยนตร์ในปี 2017 ของเธอ เรื่อง “จดหมายถึงประธานาธิบดี” ได้รับเลือกเป็นตัวแทนของอัฟกานิสถานเข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม ในงานประกาศผลรางวัลออสการ์ครั้งที่ 90

    ซาดัตเป็นประธานและผู้ก่อตั้งบริษัทผลิตภาพยนตร์อิสระ Roya Film House เธอยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการจัดเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติของสตรีขึ้นในอัฟกานิสถาน โดยดำรงตำแหน่งประธานผู้จัดงานอีกด้วย

    *ช่วงห้าปีแรกภายใต้ตาลีบัน ฉันเฝ้าหวังว่ามันจะสิ้นสุดและประตูโรงเรียนจะเปิดให้ฉันเข้าไป ตอนนี้ฉันยังคงเชื่อในเสียงแห่งเสรีภาพ เชื่อในเสียงของผู้คนว่าจะประสบชัยชนะได้ในที่สุด

  • โชกูฟา ซาฟี

    อัฟกานิสถาน วาทยากรวงออร์เคสตรา

    เธอคือวาทยกรของวง Zohra วงออร์เคสตราหญิงล้วนวงแรกของอัฟกานิสถาน โชกูฟา ซาฟี ทำหน้าที่นำการอำนวยเพลงให้กับกลุ่มนักดนตรีเยาวชนอายุ 13-20 ปี บางคนมาจากครอบครัวที่ยากจนและบางคนก็เป็นเด็กกำพร้า

    ชื่อของวง Zohra นั้นมาจากชื่อเทพธิดาแห่งดนตรีของเปอร์เซีย วงนี้บรรเลงเพลงที่ผสมผสานกันหลากหลายแนว ตั้งแต่ดนตรีแบบอัฟกันโบราณดั้งเดิม ไปจนถึงดนตรีคลาสสิกของตะวันตก โดยออกแสดงบนเวทีทั้งในประเทศและต่างประเทศมาแล้ว

    สถาบันดนตรีแห่งชาติของอัฟกานิสถานซึ่งซาฟีเคยซ้อมดนตรีอยู่ที่นั่น จำต้องปิดตัวลงหลังกลุ่มตาลีบันเข้ายึดอำนาจ เธอสามารถหลบหนีออกนอกประเทศไปจนถึงกรุงโดฮาของกาตาร์ แต่เธอและเพื่อนร่วมวงบางคนที่จำต้องทิ้งเครื่องดนตรีคู่ใจเอาไว้ที่อัฟกานิสถาน ต่างก็อยากที่จะได้ร่วมเล่นดนตรีด้วยกันอีกสักครั้ง

    *ความหวังไม่เคยล้มเหลวแม้แต่ในความมืดสนิท ฉันเชื่อว่าไม้วาทยกรของฉันจะเป็นคบเพลิงแห่งความหวังและแสงสว่างเพื่ออัฟกานิสถาน

  • ซาฮาร์

    อัฟกานิสถาน นักฟุตบอล

    เธอคือหนึ่งในบรรดาหญิงสาวหลายคนที่ต้องการจะเล่นฟุตบอลในอัฟกานิสถาน แต่ก็ไม่อาจทำได้เพราะการปกครองภายใต้ระบอบตาลีบัน ก่อนหน้านี้ซาฮาร์เล่นฟุตบอลให้ทีมในท้องถิ่นมานาน 2-3 ปีแล้ว และเธอได้รู้จักเพื่อนใหม่หลายคนจากการเล่นกีฬาชนิดนี้

    เมื่อตาลีบันเข้ายึดอำนาจในปีนี้ เธอและครอบครัวรีบหนีไปหลบซ่อน ก่อนจะออกเดินทางด้วยเครื่องบินไปยังประเทศปลายทาง ซึ่งกลายเป็นที่พำนักอาศัยแห่งใหม่

    เธอยังคงกลัวว่าเพื่อนนักฟุตบอลหญิงที่ยังอยู่ในอัฟกานิสถานจะไม่ปลอดภัย แต่ก็หวังด้วยว่าตัวเธอเองจะสามารถทำความฝันให้เป็นจริง ด้วยการกลับลงสู่สนามแข่งอีกครั้ง

    *ฉันอยากจะเรียนต่อและพยายามไปให้ถึงเป้าหมาย เพื่อให้ครอบครัวและตัวฉันได้ภูมิใจกับความสำเร็จ ฉันอยากจะทำให้ได้ เพื่อที่จะไม่มีใครกล้ามาพูดว่า ผู้หญิงเล่นฟุตบอลไม่เป็น

  • โซมา ซารา

    สหราชอาณาจักร ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Everyone’s Invited

    บัญชีอินสตาแกรมและเว็บไซต์ยอดนิยม Everyone’s Invited หรือ “ทุกคนได้รับเชิญ” เป็นแพลตฟอร์มสำหรับเหยื่อที่ผ่านการถูกทำร้ายทางเพศ ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดย โซมา ซารา เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2020 พื้นที่นี้เปิดให้เหยื่อผู้ถูกกระทำได้แบ่งปันประสบการณ์เลวร้ายที่ได้พบมา โดยไม่ต้องเปิดเผยชื่อและตัวตนจริง ช่องทางนี้มีจุดมุ่งหมายให้สังคมประณามการเลือกปฏิบัติทางเพศ รวมทั้งขจัด “วัฒนธรรมการข่มขืน” ในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ของสหราชอาณาจักร

    นับแต่เริ่มดำเนินงานมา แพลตฟอร์มนี้รวบรวมเรื่องราวต่าง ๆ ที่มีผู้เข้ามาบอกเล่าไว้ได้ถึงกว่า 50,000 เรื่องแล้ว ทำให้เริ่มมีบทบาทที่โดดเด่นมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากเกิดเหตุฆาตกรรม ซาราห์ เอเวอราร์ด ซึ่งถูกลักพาตัวไปจากถนนสายหนึ่งของกรุงลอนดอน เมื่อเดือนมีนาคมของปีนี้

    โซมาหวังว่าจะขยายขอบเขตและเป้าหมายของการรณรงค์ ให้ครอบคลุมมากขึ้นไปกว่าแค่ในรั้วสถาบันการศึกษา โดยจะมุ่งต่อสู้กับวัฒนธรรมการเกลียดกลัวเพศหญิงในสังคมวงกว้าง

    *ฉันต้องการให้โลกรับฟัง สนับสนุน และเชื่อในเรื่องราวของบรรดาผู้ที่ผ่านการถูกทำร้ายทางเพศมาแล้ว

  • มาห์บูบา เซรัจ

    อัฟกานิสถาน นักรณรงค์เพื่อสิทธิสตรี

    หลังลี้ภัยนาน 26 ปีในสหรัฐอเมริกา มาห์บูบา เซรัจ เดินทางกลับบ้านเกิดที่อัฟกานิสถานเมื่อปี 2003 นับแต่นั้นมาเธอได้ก่อตั้งและเป็นผู้นำการบริหารองค์กรต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีและสิทธิเด็กหลายแห่ง รวมถึงเครือข่ายสตรีอัฟกัน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญให้กับขบวนการสตรีที่เฟื่องฟูของประเทศ

    เธออุทิศชีวิตเสริมสร้างพลังความแข็งแกร่งให้กับเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว ต่อสู้เพื่อสุขภาพและการศึกษาของเด็ก ไปจนถึงรณรงค์ต่อต้านการคอร์รัปชัน เมื่อกลุ่มตาลีบันหวนคืนสู่อำนาจในเดือนสิงหาคม ปี 2021 เธอเลือกอยู่กับผู้คนของเธอและยังคงส่งเสียงแสดงความกังวลต่อผู้หญิงและเด็กชาวอัฟกันอย่างกล้าหาญ ไม่ว่าจะเป็นในสื่อท้องถิ่นหรือสื่อระดับโลกก็ตาม

    นิตยสารไทม์ยกย่องให้เธอเป็นหนึ่งใน “100 บุคคลผู้ทรงอิทธิพลสูงสุดของโลก” ประจำปี 2021

    *สันติภาพคือความปรารถนาอันดับหนึ่งของประเทศฉัน ฉันไม่ต้องการเห็นความหวาดกลัวในดวงตาของบรรดาพี่สาว น้องสาว และลูกสาว เพราะอนาคตที่ไม่อาจล่วงรู้ได้กำลังรอพวกเขาอยู่ พอกันทีเถอะ

  • อีลิฟ ชาฟัก

    ฝรั่งเศส นักเขียนนวนิยาย

    นักเขียนมือรางวัลชาวอังกฤษเชื้อสายตุรกี ผู้รณรงค์สนับสนุนสิทธิสตรีรวมทั้งสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+)

    อีลิฟ ชาฟัก ตีพิมพ์งานเขียนมาแล้วถึง 19 เล่ม รวมทั้งนวนิยายเรื่อง “10 นาที 38 วินาที ในโลกประหลาดใบนี้” ซึ่งเข้ารอบสุดท้ายของการตัดสินรางวัล Booker Prize ส่วนผลงานเรื่อง “กฎ 40 ข้อแห่งรัก” ก็ได้รับคัดเลือกจากบีบีซีให้อยู่ในทำเนียบนวนิยาย 100 เรื่อง ซึ่งล้วนมีอิทธิพลเปลี่ยนแปลงและกำหนดโฉมหน้าของสังคมโลก

    ชาฟักสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกทางรัฐศาสตร์ เคยสอนในมหาวิทยาลัยของตุรกี สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ในปีนี้เธอได้รับรางวัลวรรณกรรมระดับนานาชาติ Halldor Laxness International Literary Prize จากผลงานที่ “ถือเป็นการฟื้นฟูศิลปะแห่งการเล่าเรื่องขึ้นมาใหม่”

    *ทิศตะวันออกและตะวันตกในทุกหนแห่ง เราต่างยืนอยู่บนทางแพร่งสายสำคัญ โลกเก่าจบสิ้นแล้ว แทนที่จะพยายามหวนกลับไป เราสามารถสร้างโลกใหม่ที่ดีกว่าและยุติธรรมกว่า โดยจะไม่มีใครถูกทิ้งเอาไว้ข้างหลัง

  • อานิสา ชาฮีด

    อัฟกานิสถาน ผู้สื่อข่าว

    เธอคือนักข่าวชื่อดังมากที่สุดคนหนึ่งของอัฟกานิสถาน เป็นเวลากว่า 10 ปีมาแล้วที่ อานิสา ชาฮีด รายงานเรื่องราวต่าง ๆ ทั้งข่าวการละเมิดสิทธิมนุษยชน การเมือง และคดีการคอร์รัปชัน เธอทำงานให้กับ Tolo News ช่องข่าวโทรทัศน์ทรงอิทธิพลที่สุดของประเทศ รวมทั้งรายงานเหตุการณ์สดจากภาคสนาม

    ด้วยเหตุที่เธอเป็นนักข่าวหญิง เธอจึงถูกข่มขู่จนต้องหลบหนีออกนอกประเทศหลังตาลีบันเข้ายึดอำนาจเมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา เมื่อปีที่แล้วองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนซึ่งพยายามพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน ได้ยกย่องเธอในความกล้าหาญที่รายงานข่าวท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด-19

    *ในขณะที่รู้สึกผิดที่ผิดทางและสิ้นหวังอย่างถึงที่สุด ฉันหวังว่าจะได้เห็นอัฟกานิสถานมีสันติสุข ฉันหวังว่าจะได้เห็นเด็กหญิงและผู้หญิงยิ้มแย้ม และฉันหวังว่าจะได้กลับไปยังบ้านเกิด กลับไปสู่บ้านของฉันและงานของฉัน

  • มินา สมอลล์แมน

    สหราชอาณาจักร นักบวชและนักการศึกษา

    เธอเป็นนักบวชหญิงคนแรกของศาสนจักรอังกฤษ ที่ได้เป็นบาทหลวงระดับอาวุโสในตำแหน่ง Archdeacon หรืออัครพันธบริกรเมื่อปี 2013 ทั้งที่มีภูมิหลังมาจากครอบครัวคนผิวดำและเป็นชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ ปัจจุบันเธอเกษียณอายุจากการเป็นนักบวชนิกายแองกลิกัน แต่ยังเป็นครูในโรงเรียนและทำงานรณรงค์เพื่อความปลอดภัยบนท้องถนน รวมทั้งเรียกร้องให้มีการปฏิรูปตำรวจของสหราชอาณาจักร

    นิโคล สมอลล์แมน และบีบา เฮนรี ลูกสาวสองคนของเธอ ถูกชายวัย 19 ปีแทงจนเสียชีวิตในสวนสาธารณะแห่งหนึ่งของกรุงลอนดอน เมื่อปี 2020 สมอลล์แมนได้วิจารณ์การทำงานของตำรวจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะแรกรับแจ้งเหตุคนหาย เธอยังชี้ว่าลูกสาวของเธออาจเป็นเหยื่อของการเหยียดเชื้อชาติและแบ่งแยกชนชั้น

    สมอลล์แมนบอกว่าเธอได้ให้อภัยฆาตกรที่สังหารลูกสาวแล้ว “เมื่อเรายังรู้สึกโกรธเกลียดใครอยู่ ไม่เพียงแค่คนผู้นั้นที่จะถูกคุมขังเอาไว้ แต่ยังเป็นตัวเราเองด้วย เพราะความคิดของเราถูกครอบงำด้วยความแค้น ฉันจะไม่ยอมปล่อยให้เขามามีอำนาจเหนือฉันเช่นนั้น”

    *ในฐานะครูและนักบวช ฉันได้อุทิศชีวิตอบรมเลี้ยงดูบรรดาเด็กชายหญิงที่ผู้คนต่างดูถูกดูแคลน ฉันขอให้พวกคุณทุกคนแสดงการคัดค้าน เมื่อใดก็ตามที่ได้ยินว่ามีการกีดกันหรือเลือกปฏิบัติ เราสามารถเปลี่ยนแปลงมันได้

  • บาร์บารา สมอลินสกา

    โปแลนด์ ผู้ก่อตั้งบริษัท Reborn Sugar Babies

    ตุ๊กตา Reborn หรือ “เกิดใหม่” ที่มีหน้าตาเหมือนทารกจริงอย่างเหลือเชื่อ สามารถช่วยให้ผู้หญิงหลายคนจัดการกับความรู้สึกสูญเสียเพราะการแท้งหรือลูกตายจากได้ ในบางกรณีก็ช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้า ความวิตกกังวล หรือความเครียดจากปัญหาการตั้งครรภ์ยาก บาร์บารา สมอลินสกา ศิลปินชาวโปแลนด์เป็นผู้ออกแบบและประดิษฐ์ตุ๊กตาทารกที่เหมือนมีชีวิตนี้ขึ้น ซึ่งอาจใช้เป็นอุปกรณ์ช่วยบำบัดเยียวยาได้

    สมอลินสกาเคยเป็นนักดนตรีมาก่อน รวมทั้งผ่านการฝึกฝนศิลปะการแต่งหน้าและใช้เครื่องสำอางอย่างมืออาชีพ ต่อมาเธอก่อตั้งบริษัทผลิตตุ๊กตาทำมือ Reborn Sugar Babies ซึ่งตุ๊กตาทารกของเธอถูกนำไปใช้ในการถ่ายทำภาพยนตร์ รวมทั้งใช้ฝึกแพทย์ พยาบาล และผดุงครรภ์ ในสถาบันการแพทย์หลายแห่งด้วย

    สมอลินสกาหลงใหลในศิลปะการทำตุ๊กตาของตนเอง และเธอเชื่อว่าผลงานสร้างสรรค์เหล่านี้ให้ความหวังกับผู้หญิงจำนวนมาก รวมทั้งช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจของพวกเธอด้วย

    *ฉันอยากให้ผู้คนมีความเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น เปิดกว้างและอดทนต่อสิ่งที่แตกต่าง อย่างเช่นในกรณีของการบำบัดด้วยตุ๊กตา Reborn ซึ่งช่วยผู้หญิงที่มีปัญหาได้เป็นจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว

  • เอน โซเม

    เมียนมา นักรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย

    หลังถูกกองทัพเมียนมาจับกุมเมื่อเดือนเมษายน เอน โซเม (นามแฝง) ถูกคุมขังนาน 6 เดือน และเพิ่งได้รับการปล่อยตัวเนื่องจากมีการให้นิรโทษกรรมเมื่อไม่นานมานี้ เธอถูกคุมขังที่หนึ่งในศูนย์สอบปากคำของกองทัพที่มีอยู่หลายแห่ง รวมทั้งที่เรือนจำอินเส่งอันโด่งดัง เธอบอกว่าชีวิตในที่คุมขังนั้นยากลำบากแสนสาหัสยิ่ง และเปิดเผยว่าถูกทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจด้วย

    นับตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาอยู่ นักรณรงค์เคลื่อนไหวผู้นี้มีส่วนร่วมในการต่อสู้และทำกิจกรรมเพื่อคนระดับรากหญ้ามาโดยตลอด หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. โซเมได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านกองทัพ เช่นการประท้วงเคาะหม้อและกระทะไล่เผด็จการ และการนัดหยุดงาน “ประท้วงเงียบ” ในช่วงปลายเดือนมีนาคม

    หลังได้รับการปล่อยตัว เธอกลับมาเคลื่อนไหวทำกิจกรรมทางการเมืองต่อทันที

    *ถ้าหากเราทำให้โลกเริ่มต้นใหม่ทั้งหมดได้ เราอยากจะเอาชนะโรคระบาดและสร้างสังคมที่มีสันติสุขได้สำเร็จ เราหวังว่าเผด็จการทั่วโลกจะถูกโค่นล้ม ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงและเป็นไปโดยสันติจะตั้งมั่นได้ในที่สุด

  • ไพเพอร์ สตีเกอ เนลสัน

    สหรัฐอเมริกา เจ้าหน้าที่กลยุทธ์สาธารณะ The Safe Alliance

    ที่องค์กร The Safe Alliance ในเมืองออสตินของรัฐเทกซัส ไพเพอร์ สตีเกอ เนลสัน หัวหน้าเจ้าหน้าที่กลยุทธ์สาธารณะ ทำงานร่วมกับชุมชนเพื่อหยุดยั้งการละเมิดสิทธิเด็ก เหตุทำร้ายทางเพศ ความรุนแรงในครอบครัว และการค้ามนุษย์เพื่อบังคับค้าประเวณี

    ทางองค์กรให้คำปรึกษาแก่เหยื่อการข่มขืนอายุน้อย ซึ่งขณะนี้ไม่สามารถเข้าถึงบริการทำแท้งได้ เนื่องจากกฎหมายใหม่ของรัฐเทกซัสห้ามการทำแท้งหลังมีอายุครรภ์เกิน 6 สัปดาห์

    สตีเกอ เนลสัน อุทิศชีวิตของเธอเพื่อความก้าวหน้าของสิทธิสตรีและเด็กหญิง เธอทำงานร่วมกับความริเริ่ม Let Girls Learn ของมิเชล โอบามา รวมทั้ง Annie’s List ซึ่งเป็นคณะกรรมการดำเนินงานที่มุ่งเพิ่มจำนวนสตรีผู้เข้าร่วมและประสบความสำเร็จในแวดวงการเมือง

    *โควิด-19 ได้สร้างการเริ่มต้นใหม่ที่มีความเปลี่ยนแปลงทางสังคมรวมอยู่ด้วย ผู้คนต่างรู้สึกว่าตนเองมีพลังอำนาจที่จะพูดออกมาว่าอะไรคือสิ่งสำคัญ ความท้าทายในตอนนี้ก็คือการให้ความรู้แก่ชายหญิงและเด็ก ถึงเรื่องความสำคัญของสิทธิในร่างกายของตนเองและความยินยอม

  • ฟาติมา สุลตานี

    อัฟกานิสถาน นักไต่เขา

    หลังเริ่มไต่เขาเป็นงานอดิเรกในปี 2019 ฟาติมา สุลตานี ได้ตัดสินใจทำภารกิจสำคัญ นั่นคือการส่งเสริมให้เด็กสาวชาวอัฟกันมีความสนใจในกีฬาท้าทายประเภทนี้เหมือนกับเธอด้วย

    เมื่ออายุได้เพียง 18 ปี เธอครองตำแหน่งผู้หญิงอายุน้อยที่สุดที่พิชิตยอดเขา Noshakh ความสูง 7,492 เมตร ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในอัฟกานิสถานได้สำเร็จ ในครั้งนั้นเธอเป็นส่วนหนึ่งของทีมไต่เขาเยาวชน 9 คนของประเทศ ซึ่งในจำนวนนั้นมีผู้หญิงรวมอยู่ด้วย 3 คน

    สุลตานีมีความสนใจในกีฬาหลายประเภท นอกจากการไต่เขาแล้ว เธอยังเป็นส่วนหนึ่งของทีมชาติอัฟกานิสถานในการแข่งขันกีฬาชกมวย เทควันโด และยูยิตสู ตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา

    *ผู้หญิงอัฟกันได้ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพมานานถึง 20 ปี พวกเธอป่ายปีนขึ้นเขาสูงและสร้างชื่อเสียงให้กับตัวเองได้สำเร็จ ฉันหวังว่าหลังจากนี้พวกเธอจะเป็นอิสระและสามารถปีนเขาสูงได้อีกครั้ง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

  • อะเดเลด ลาลา แทม

    จีน นักออกแบบ

    ศิลปินและนักออกแบบอาหาร ผู้มุ่งสำรวจทางเลือกในเรื่องไลฟ์สไตล์ของผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นความสัมพันธ์แบบสมัยใหม่ระหว่างมนุษย์กับอาหาร

    แม้จะเกิดที่แผ่นดินใหญ่ของจีน แต่อะเดเลด ลาลา แทม ได้โยกย้ายมาเป็นผู้พำนักอาศัยถาวรของฮ่องกงในเวลาต่อมา ขณะนี้เธอทำงานและพักอาศัยอยู่ที่เนเธอร์แลนด์ โดยงานศิลปะของเธอวิเคราะห์วิจารณ์การผลิตอาหารแบบอุตสาหกรรม เรียกร้องให้ผู้บริโภคประเมินสิ่งที่ตนกินเข้าไปเสียใหม่ รวมทั้งไตร่ตรองถึงความรับผิดชอบที่ควรต้องมี ในการผลิตอาหารแบบนี้ด้วย

    เมื่อปี 2018 เธอได้รับรางวัลการออกแบบอาหารแห่งอนาคต ทั้งในประเภทรางวัลยอดนิยมจากสาธารณชน และในประเภทรางวัลจากการตัดสินของคณะกรรมการ โดยผลงานของเธอเป็นการจัดวางสื่อผสมที่สะท้อนให้เห็นบางอย่างในกระบวนการเชือดวัว นอกจากนี้ เธอยังได้รับเลือกเข้าในทำเนียบ 50 Next หรือคนรุ่นใหม่ที่จะมีบทบาทกำหนดอนาคตของวงการอาหารอีกด้วย

    *โลกเปลี่ยนไปมากในปี 2021 ตอนนี้ฉันอยากให้ผู้คนมีความเห็นอกเห็นใจมากขึ้นต่อสิ่งที่เรากินเข้าไป รวมทั้งตระหนักถึงวิธีการที่มันเดินทางมาถึงโต๊ะอาหารของเราด้วย

  • ซิสเตอร์ แอน โรส นู ถว่อง

    เมียนมา แม่ชีคาทอลิก

    แม่ชีคาทอลิกผู้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการประท้วงต่อต้านกองทัพเมียนมาหลังเกิดเหตุรัฐประหาร เธอคุกเข่าลงต่อหน้าตำรวจเพื่อร้องขอชีวิตบรรดาผู้ประท้วง ซึ่งขณะนั้นหลบหนีการปราบปรามเข้าไปอยู่ในโบสถ์ของเธอ

    ภาพที่เธอกางแขนออกต่อหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งมีอาวุธครบมือ กลายเป็นภาพที่ถูกส่งต่อทางโซเชียลมีเดียมากที่สุดภาพหนึ่งเมื่อเดือนมีนาคมของปีนี้ ทำให้แม่ชีได้รับการชื่นชมยกย่องจากผู้คนทั่วโลก

    ซิสเตอร์ แอน โรส นู ถว่อง พูดถึงการปกป้องพลเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกเด็ก ๆ อย่างเปิดเผย เธอได้รับการฝึกให้เป็นผดุงครรภ์และใช้ชีวิตที่ผ่านมาถึง 20 ปีรับใช้สังคม โดยเมื่อไม่นานมานี้ เธอต้องดูแลผู้ป่วยโควิดจำนวนมากของรัฐกะฉิ่น

    *ฉันได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในเมียนมาด้วยใจแหลกสลาย ถ้าฉันสามารถจะทำอะไรบางอย่างได้ ฉันจะปล่อยนักโทษทุกคนในเรือนจำที่ถูกคุมขังโดยไม่เป็นธรรม ฉันจะทำให้ทุกคนเท่าเทียมกันโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติอีกต่อไป

  • เอ็มมา ธีโอฟีลัส

    นามิเบีย นักการเมือง

    เธอได้เป็นรัฐมนตรีที่มีอายุน้อยที่สุดคนหนึ่งของทวีปแอฟริกา โดยเมื่อปีที่แล้ว เอ็มมา อินามูติลา ธีโอฟีลัส วัย 23 ปี ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกรัฐสภาและยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีการสื่อสารอีกด้วย โดยเธอมีหน้าที่บริหารการสื่อสารอย่างเป็นทางการในเรื่องของโรคโควิด-19 ภายในประเทศ

    แต่ก่อนหน้านั้น ธีโอฟีลัสเคยเป็นเยาวชนนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวเรียกร้องความเสมอภาคทางเพศ สิทธิเด็ก และการพัฒนาที่ยั่งยืน เธอเคยดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภาเยาวชน และนายกเทศมนตรีรุ่นเยาว์ของเมือง Winhoek ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเธอเอง

    ธีโอฟีลัสสำเร็จการศึกษานิติศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยแห่งนามิเบีย รวมทั้งมีประกาศนียบัตรด้านเพศสภาพศึกษาและแนวคิดสตรีนิยมแอฟริกัน จากมหาวิทยาลัยแห่งแอฟริกาใต้อีกด้วย

    *เราสามารถเริ่มต้นโลกใหม่ได้ด้วยการเร่งรัด เราต้องเร่งลงมือปฏิบัติตามแผนต่าง ๆ ทุกแผน ที่ได้แต่วาดฝันกันมานานหลายปี ไม่มีเวลาที่จะชักช้าอีกต่อไป และอันที่จริงเราหมดเวลาแล้วด้วยซ้ำ

  • ซารา วาเฮดี

    อัฟกานิสถาน ประธานผู้บริหารบริษัท Ehtesab

    เธอคือผู้ก่อตั้งบริษัทเทคโนโลยีสตาร์ทอัพ Ehtesab ที่ผลิตภัณฑ์แรกเป็นแอปพลิเคชันให้ข้อมูลความปลอดภัยแก่ชาวกรุงคาบูลแบบเรียลไทม์ รวมทั้งแจ้งเตือนเรื่องระบบพลังงานและการจราจรด้วย ซึ่งต่อมาแอปฯนี้ได้พิสูจน์ตนเองว่าเป็นสิ่งสำคัญด้านความปลอดภัยที่ชาวอัฟกันจะขาดเสียมิได้ เพราะให้ข้อมูลข่าวสารทั้งที่เกี่ยวกับภัยธรรมชาติและภยันตรายอื่น ๆ รอบตัวได้อย่างรวดเร็วและเชื่อถือได้ รวมไปถึงแจ้งเหตุโจมตีด้วยระเบิดแสวงเครื่อง การรุมทำร้ายในที่สาธารณะ และเหตุบุกล้อมบ้าน

    ในปี 2022 นี้ ซารา วาเฮดี หวังว่าจะสามารถเริ่มให้บริการแจ้งเตือนภัยทางข้อความ SMS เพื่อเปิดโอกาสให้คนในชนบทเข้าถึงบริการในแอปพลิเคชันของเธอได้ด้วย

    นักธุรกิจด้านเทคโนโลยีผู้นี้ยังเป็นหนึ่งในทำเนียบ “ผู้นำรุ่นใหม่แห่งปี 2021” ซึ่งคัดเลือกโดยนิตยสารไทม์ ปัจจุบันเธอศึกษาที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียในด้านสิทธิมนุษยชนและวิทยาศาสตร์ข้อมูล

    *การลุกฮือขึ้นอย่างพร้อมเพรียงของชาวอัฟกัน เพื่อเรียกร้องการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม รวมทั้งร้องขอองค์กรเพื่อการบูรณะฟื้นฟูประเทศ ถือเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้แน่ แต่เพื่อจะไปให้ถึงจุดนั้น การรณรงค์ต่อต้านที่ยืดหยุ่นซึ่งสู้เพื่อให้ทุกคนรวมทั้งเด็กชายและเด็กหญิงได้เข้าถึงการศึกษาและบริการสุขภาพ ถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

  • วีรา หวัง

    สหรัฐอเมริกา นักออกแบบแฟชั่น

    นักออกแบบชุดเจ้าสาวคนดัง ผู้อยู่แนวหน้าของวงการแฟชั่นมาตั้งแต่ทศวรรษ 1970 ปัจจุบัน วีรา เอลเลน หวัง ได้ขยายธุรกิจของเธอสู่วงการผลิตน้ำหอม สำนักพิมพ์ ออกแบบตกแต่งบ้าน และอื่น ๆ อีกมาก

    เธอเกิดที่นครนิวยอร์กในครอบครัวชาวจีน ต่อมาได้เป็นบรรณาธิการแฟชั่นอาวุโสของนิตยสาร Vogue และผู้อำนวยการออกแบบให้กับ Ralph Lauren เธอยังเป็นนักสเก็ตลีลาที่เปี่ยมด้วยความสามารถ โดยลงแข่งขันในรายการมืออาชีพตลอดช่วงเวลาที่เป็นวัยรุ่น

    หวังยังเป็นสมาชิกของสภานักออกแบบแฟชั่นแห่งอเมริกาอันทรงเกียรติ โดยเธอได้รับการเสนอชื่อจากสภาแห่งนี้ ให้เป็นนักออกแบบเครื่องแต่งกายสตรีแห่งปี เมื่อปี 2005

    *เราต่างก็เผชิญความเสี่ยงต่อภัยคุกคามอย่างเดียวกัน ยิ่งเราร่วมมือเพื่อพยายามกู้โลกใบนี้อย่างเร่งด่วนขึ้น ด้วยวิธีการที่ฉลาดและเอื้อต่อการดำรงอยู่ได้มากขึ้นเท่าไหร่ ชีวิตของเราก็จะดีขึ้นเท่านั้น

  • น่านฝู หวัง

    จีน ผู้สร้างภาพยนตร์

    เธอมาจากหมู่บ้านชนบทที่ห่างไกลในประเทศจีน ปัจจุบัน น่านฝู หวัง ย้ายไปทำงานและพำนักอาศัยในสหรัฐอเมริกา

    ผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกของเธอในปี 2016 “Hooligan Sparrow” ได้รับคัดเลือกเข้ารอบสุดท้ายเพื่อชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม เธอยังกำกับภาพยนตร์เรื่อง One Child Nation (2019) และ The Same Breath (2021) ซึ่งนำเสนอปฏิกิริยาของรัฐบาลจีนและอเมริกันต่อการระบาดของโรคโควิด-19

    แม้จะเติบโตมาในครอบครัวที่ยากจน แต่หวังสามารถสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยถึง 3 แห่ง ทั้งในนครเซี่ยงไฮ้ รัฐโอไฮโอ และที่นครนิวยอร์ก เธอยังได้รับทุนสนับสนุนผู้มีความสามารถ MacArthur Genius Grant เมื่อปี 2020 ในฐานะที่ “สร้างสรรค์การศึกษาตัวละครอย่างลึกซึ้ง โดยตรวจสอบถึงผลกระทบที่เกิดจากระบอบเผด็จการ การคอร์รัปชัน และการขาดความรับผิดชอบในสิ่งที่กระทำลงไป”

    *ดูเหมือนว่าทั้งโลกต่างกระตือรือร้นที่จะหวนกลับคืนสู่ภาวะปกติ แต่สภาวะซึ่งเรามองว่าปกตินั่นแหละ ได้ทำให้เกิดวิกฤตที่เราต้องเผชิญอยู่ในตอนนี้ขึ้นมา

  • โชานัก วาร์ดัก

    อัฟกานิสถาน สูตินรีแพทย์

    อดีตสมาชิกรัฐสภาและสูตินรีแพทย์ผู้มีความรู้ความสามารถ แพทย์หญิงโรชานัก วาร์ดัก ให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้หญิงมานานกว่า 25 ปี เธอเคยทำงานแม้แต่ยุคของระบอบตาลีบันครั้งแรก โดยเป็นแพทย์หญิงเพียงคนเดียวในจังหวัดไมดาน วาร์ดัก บ้านเกิดของเธอ

    เธอได้เข้ามาเป็นสมาชิกรัฐสภาหลังการล่มสลายของระบอบตาลีบันเมื่อปี 2001 ก่อนหน้านั้นพื้นที่บ้านเกิดของเธออยู่ภายใต้การปกครองของตาลีบันมายาวนานเกือบ 15 ปี และก็เหมือนกับพื้นที่ชนบทอื่น ๆ ซึ่งต้องเผชิญกับการสู้รบอย่างหนักหน่วง รวมถึงการบุกโจมตีของกองกำลังนาโต้ด้วย

    เธอบอกกับบีบีซีว่า การยึดอำนาจของตาลีบันและการสิ้นสุดสงครามนั้นคล้ายกับฝันไป “ฉันเฝ้ารอวันนี้ที่จะได้ขจัดพวกฉ้อราษฎร์บังหลวงให้หมดอำนาจ” แพทย์หญิงวาร์ดักกล่าว แต่ไม่นานมานี้เธอหันมาให้ความสำคัญกับประเด็นการเปิดโรงเรียน และการที่ตาลีบันผิดสัญญาทำให้เธอส่งเสียงเรียกร้องสิทธิในการศึกษาให้กับเด็กหญิงมากขึ้น

    *ความหวังเดียวของฉันก็คือ อัฟกานิสถานสามารถนำตัวผู้นำรัฐบาลในอดีตตลอดช่วง 40 ปีที่ผ่านมา เข้ารับการไต่สวนและรับโทษจากการกระทำอันทรยศต่อชาติของพวกเขา

  • หมิงนา เหวิน

    มาเก๊า นักแสดง

    เธอคือผู้ให้เสียงตัวละคร ฝ่า มู่หลาน ในภาพยนตร์แอนิเมชัน Mulan (1998) และ Mulan II (2004) เหวิน หมิงนา ยังปรากฏตัวในซีรีส์ ER ซึ่งเป็นละครแนวดรามาเกี่ยวกับวงการแพทย์ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง รวมทั้งแสดงใน Inconceivable ซึ่งเป็นหนึ่งในละครโทรทัศน์ไม่กี่เรื่องของสหรัฐฯ ที่มีดารานำเป็นคนอเมริกันเชื้อสายเอเชีย

    ปัจจุบันเธอรับบท Fennec Shand ตัวละครในซีรีส์ฮิต The Mandalorian ทางช่องดิสนีย์พลัส และมีแผนจะปรากฏตัวอีกครั้งในในซีรีส์ The Book of Boba Felt ที่กำลังถ่ายทำอยู่ ผลงานที่ผ่านมาทำให้เธอได้รับฉายา “ตำนานแห่งดิสนีย์”

    เหวิน หมิงนา กำลังจะได้รับการจารึกชื่อในสัญลักษณ์ดาวห้าแฉก บนทางเดิน Hollywood Walk of Fame ในปี 2022 นี้

    *การปรับเปลี่ยนใหม่ไม่ใช่ทางเลือกที่แท้จริง แล้วทำไมจะต้องห่วงเรื่องการย้อนกลับไปด้วย ? ฉันเชื่อว่าทุกสิ่งเกิดขึ้นเพราะมันมีสาเหตุ วันใหม่ที่มาถึงในทุกวันก็คือการเริ่มต้นอีกครั้ง ดังนั้นจงอยู่เพื่อวันนี้ด้วยความพอใจและรู้สึกขอบคุณ

  • เรเบล วิลสัน

    ออสเตรเลีย นักแสดง นักเขียน และโปรดิวเซอร์

    ดาราฮอลลีวูดระดับเมกะสตาร์ นักแสดง นักเขียน โปรดิวเซอร์ ผู้กำกับ และนิติศาสตร์บัณฑิตผู้นี้ เริ่มเส้นทางอาชีพการแสดงบนเวทีของนครซิดนีย์ โดยเธอมักเขียนบทและแสดงเอง จนสามารถสร้างชื่อเสียงในแวดวงนักแสดงตลกของออสเตรเลียได้ ก่อนที่จะย้ายไปสหรัฐฯ เมื่อปี 2010

    เมื่อเปิดตัวในวงการภาพยนตร์ฮอลลีวูด วิลสันได้ร่วมแสดงใน Bridesmaids ภาพยนตร์ตลกยอดฮิตที่มีดาราหญิงเป็นผู้แสดงนำ เธอยังได้รับบทในภาพยนตร์รางวัลออสการ์ Jojo Rabbit แต่เป็นที่รู้จักกันดีที่สุดในบท “ยายอ้วนเอมี่” หรือ Fat Amy จากภาพยนตร์เพลงไตรภาคยอดฮิตติดอันดับบ็อกซ์ออฟฟิศ Pitch Perfect

    ในปี 2022 นี้ เธอจะมีโอกาสได้กำกับภาพยนตร์ความยาวเต็มรูปแบบครั้งแรก โดยหนังเรื่องนี้มีกำหนดจะออกฉายเป็นโปรแกรมเด่นในโรงภาพยนตร์ต่อไป

    *ความหลากหลาย การให้ความเคารพ และการยอมรับ ควรจะเป็นเรื่องที่ต่อรองไม่ได้ในทุกแง่มุมของชีวิต

  • บานาฟชา ยาคูบี

    อัฟกานิสถาน นักรณรงค์เพื่อผู้พิการ

    เธอและสามีซึ่งพิการทางสายตาทั้งคู่ ร่วมกันก่อตั้งองค์กร Rahyab เพื่อให้การศึกษาและช่วยฟื้นฟูคนตาบอดทั่วอัฟกานิสถาน บานาฟชา ยาคูบี ผู้เป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ยังเป็นสมาชิกของคณะกรรมการอิสระด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศ โดยมุ่งทำงานเพื่อการศึกษาของเด็ก ๆ ที่พิการทางสายตา

    หลังการกลับมาของตาลีบัน เธอจำต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ แต่ก็ยังคงเป็นปากเป็นเสียงเรียกร้องสิทธิให้ผู้พิการในอัฟกานิสถานต่อไป เพราะเธอกลัวว่าเขาเหล่านั้นจะถูกกีดกันและเลือกปฏิบัติจากรัฐบาลตาลีบัน

    ประเด็นการเข้าถึงบริการสาธารณะและการถูกเลือกปฏิบัติ ยังคงเป็นปัญหาร้ายแรงของผู้พิการในอัฟกานิสถาน ซึ่งมีสัดส่วนประชากรในกลุ่มนี้สูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เนื่องจากการสู้รบที่ยาวนานหลายทศวรรษ

    *หากยังคงมีความหวังใด ๆ เหลืออยู่ ฉันต้องการจะกลับไปเห็นบ้านเกิดอีกครั้ง อยากจะเห็นประเทศของฉันมีเสรีภาพเพิ่มมากขึ้น และอยากเห็นการยอมรับให้ชาวอัฟกันทุกกลุ่มมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ

  • มาลาลา ยูซาฟไซ

    ปากีสถาน ผู้รวมก่อตั้งกองทุนมาลาลา

    เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพที่อายุน้อยที่สุด มาลาลา ยูซาฟไซ เป็นนักรณรงค์เพื่อการศึกษาของเด็กหญิงชาวปากีสถาน และผู้ส่งสารแห่งสันติภาพของสหประชาชาติ เธอเริ่มเรียกร้องสิทธิในการได้รับการศึกษาให้กับเหล่าเด็กหญิง ตั้งแต่ยังมีอายุเพียง 11 ปี

    เธอเริ่มทำกิจกรรมเรียกร้องสิทธิดังกล่าวโดยเขียนบล็อกให้กับบีบีซี เล่าเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบันในปากีสถาน รวมทั้งเรื่องคำสั่งห้ามเด็กหญิงไปโรงเรียน ในเดือนตุลาคมปี 2012 มือปืนคนหนึ่งขึ้นมาบนรถโดยสารเพื่อมองหามาลาลา เขาจ่อยิงเธอที่ศีรษะ

    หลังรอดชีวิตและพักรักษาจนอาการฟื้นตัวดีแล้ว เธอเดินหน้าทำงานต่อไปในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งกองทุนมาลาลาซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร องค์กรของเธอมุ่งสร้างโลกที่เด็กหญิงทุกคนจะได้เรียนรู้และเป็นผู้นำโดยปราศจากความหวาดกลัว

    *ทุกวันนี้เด็กหญิงหลายร้อยล้านคนไม่ได้ไปโรงเรียน เราต้องการเห็นโลกที่เด็กหญิงทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษา 12 ปีได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งต้องเป็นการศึกษาที่มีคุณภาพและความปลอดภัยด้วย เพื่อที่พวกเธอทุกคนจะมีโอกาสได้เรียนรู้และได้เป็นผู้นำ

  • ยูมา

    เติร์กเมนิสถาน นักบำบัดจิต

    นักบำบัดจิตและนักรณรงค์เคลื่อนไหวเพื่อชาว LGBTQ+ ถูกบังคับให้เดินทางออกจากรัสเซีย หลังเธอปรากฏตัวในโฆษณาของซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่งเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ยูมาถูกขับไล่เพียงเพราะในโฆษณาดังกล่าว เธอและครอบครัวแสดงท่าทางว่ากำลังฉลองเทศกาลเกย์ไพรด์กันอยู่ ปัจจุบันเธอจึงย้ายมาพำนักอยู่ที่ประเทศสเปน

    ยูมาขอปกปิดนามสกุลของเธอเป็นความลับ แต่เล่าว่าเธอมาเป็นนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวเพื่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ หลังทางการรัสเซียออกกฎหมายต่อต้านการโฆษณาชวนเชื่อของชาวเกย์ในปี 2013 ซึ่งกฎหมายนี้ห้ามส่งเสริมเยาวชนให้มีความสัมพันธ์ทางเพศที่ไม่เป็นไปตามขนบธรรมเนียมดั้งเดิม

    เธอให้ความช่วยเหลือทางจิตวิทยาแก่ผู้มีความหลากหลายทางเพศจากเชชเนีย ซึ่งพวกเขาต่างบอกว่าถูกทรมานจากตำรวจรัสเซียในช่วงปี 2017-2018 เธอยังให้การสนับสนุนงานเทศกาลต่าง ๆ ของคนกลุ่มนี้ในรัสเซียด้วย

    *การถูกบังคับให้แยกตัวอยู่โดดเดี่ยว ได้แสดงให้เห็นว่าการมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดแน่นแฟ้นนั้นสำคัญเพียงไร มันเป็นเรื่องที่มีเหตุผลหากเราจะพิจารณาดูว่า เรากำลังทำอะไรอยู่ในโลกที่เราอยากจะสร้างเพื่อคนที่เรารัก

  • ซาลา ซาไซ

    อัฟกานิสถาน ตำรวจหญิง

    รองหัวหน้าหญิงคนแรกของฝ่ายสืบสวนคดีอาชญากรรม ประจำสำนักงานตำรวจจังหวัดโคสต์ของอัฟกานิสถาน ซึ่งปัจจุบันจังหวัดนี้เริ่มมีความวุ่นวาย เนื่องจากความเคลื่อนไหวของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน เธอคือร้อยตำรวจตรี ซาลา ซาไซ หนึ่งในตำรวจหญิงกว่า 4,000 คนของประเทศ ผู้ได้รับการฝึกแบบมืออาชีพจากโรงเรียนตำรวจของตุรกี

    ในเส้นทางอาชีพสายนี้ เธอถูกกดดันจากบรรดาเพื่อนร่วมงานชายจำนวนมาก ทั้งยังถูกขู่ฆ่าจากกลุ่มแบ่งแยกดินแดนหลายครั้งอีกด้วย

    หลังกลุ่มตาลีบันเข้ายึดครองอัฟกานิสถานอีกครั้งในปีนี้ ซาไซจำต้องหลบหนีออกนอกประเทศ แต่เธอยังคงแสดงความห่วงกังวลต่อความปลอดภัยของตำรวจหญิงชาวอัฟกันคนอื่น ๆ ซึ่งขณะนี้ต้องพากันหลบซ่อนตัว

    *ความฝันของฉันที่มีต่ออนาคต ก็คือการได้สวมเครื่องแบบอีกครั้ง ได้ท้าทายสังคมล้าหลังที่มีแต่ชายเป็นใหญ่ ฉันอยากจะทำงานเพื่อผู้หญิงอัฟกันอีกครั้ง ในสถานที่ห่างไกลที่ผู้หญิงไม่มีสิทธิจะได้ทำงานเลย